คอลัมนิสต์

'พรรคเทพ-พรรคมาร' ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว 'ทักษิณ' ตัวพ่อ Neo Conservative

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมืองหลังจากนี้อาจเกิด 'พรรคเทพ-พรรคมาร' ชัดมากขึ้น หลังจาก 'ทักษิณ' และ 'เพื่อไทย' ฉีก MOU พรรคร่วมไป "ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว"กับฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นคู่แค้นทางการเมือง ในขณะที่ 'ก้าวไกล' ฝ่ายเสรีนิยมซึ่งชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งกลับถูกผลักไปเป็นฝ่ายค้าน

 

การเมืองหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 อาจเกิดภาพ "พรรคเทพ-พรรคมาร" ชัดมากขึ้น หลังจาก "ก้าวไกล" ที่ได้คะแนน 14 ล้านเสียง ชนะมาเป็นอันดับหนึ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะที่ "เพื่อไทย" ที่ยืนหยัดต่อสู้เผด็จการทหารหลังถูกรัฐประหารมาถึงสองรอบ ตัดสินใจฉีก MOU พรรคร่วม และหันไปจัดตั้งรัฐบาล "ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว" กับพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเป็นคู่แค้นทางการเมือง 

 

แน่นอน ในทางการเมืองนั้น "ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร" แต่ทุกความขัดแย้งย่อมมีบาดแผล และสังคมการเมืองก็แบ่งแยกพรรคการเมืองด้วยจุดยืนและอุดมการณ์ของแต่ละพรรค การแถลงจัดตั้งรัฐบาล 212 เสียง ระหว่าง เพื่อไทย และ ภูมิใจไทย เมื่อ 7 ส.ค. 2566 จึงช่วยย้อนภาพจำในอดีตจากเหตุการณ์ล้มประชุมอาเซียนในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ซึ่ง "คนเสื้อแดง" กับ "เสื้อน้ำเงิน" เปิดศึกปะทะกัน โดยครหากันว่ามีชื่อ "เนวิน ชิดชอบ" จากภูมิใจไทยอยู่เบื้องหลัง และต่อมาก็เกิดวาทะเด็ด "มันจบแล้วครับนาย" จากปาก "เนวิน" 

 

 

การเมืองหลังการเลือกตั้งปี 2535/1 มีการแบ่งขั้วจากจุดยืนพรรคการเมืองออกเป็น "พรรคเทพ-พรรคมาร" ซึ่งเป็นที่มาการผสมพันธุ์ข้ามขั้วทางการเมืองอันโด่งดังที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ในปี 2534 หลังจากกองทัพเข้ายึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่นำโดย 4 บิ๊ก ประกอบด้วย บิ๊กจ๊อด - พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ผบ.สส. เป็นหัวหน้าคณะ บิ๊กสุ - พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผบ.ทบ. รองหัวหน้าคณะ บิ๊กเต้ - พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคณะ และ บิ๊กตุ๋ย - พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี รอง ผบ.ทบ. เป็นเลขาธิการ

 

 

หลังรัฐประหารสำเร็จ รสช. เชิญ "อานันท์ ปันยารชุน" นั่งเก้าอี้นายกฯ และต่อมามีการเลือกตั้งขึ้นเมื่อ 22 มี.ค. 2535 ผลปรากฏว่า "สามัคคีธรรม" พรรคที่มีกองทัพหนุนหลังเพื่อการสืบทอดอำนาจได้ สส. มากที่สุด 79 คน เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม ประกอบด้วย 5 พรรค คือ สามัคคีธรรม, ชาติไทย, กิจสังคม, ประชากรไทย และพรรคราษฎร 

 

 

ก่อนการเลือกตั้ง "บิ๊กสุ" ให้สัมภาษณ์ว่า "ไม่มีแผนในการสืบทอดอำนาจ และยืนยันว่า จะไม่เป็นนายกฯ อย่างเด็ดขาด" และต่อมามีการเสนอชื่อ "ณรงค์ วงศ์วรรณ" หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม เป็นว่าที่นายกฯ คนต่อไป แต่ "ณรงค์" เจอข้อหาสหรัฐฯ เคยปฏิเสธออกวีซ่าให้ เนื่องจากสงสัยว่า พัวพันขบวนการค้ายาเสพติด พรรคร่วมรัฐบาลจึงตัดสินใจเสนอชื่อ "บิ๊กสุ" เป็นนายกฯ แทน ซึ่งเวลานั้น พล.อ.สุนทร เจ้าของฉายา "นายพลเสื้อคับ" ถูกถามว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ เขาตอบว่า "ไม่สุก็เต้ ถ้าสุไม่เอาก็ให้เต้" ซึ่ง พล.อ.สุนทรก็คือบิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. ผู้มีบทบาททางการเมืองในปัจจุบันนั่นเอง

 

 

เวลานั้น พล.อ.สุจินดา แถลงทั้งน้ำตาว่า "จำเป็นต้องเสียสัตย์เพื่อชาติรับตำแหน่งนายกฯ" ทำให้ช่วงต้นเดือน เม.ย. ประชาชนและนิสิตนักศึกษาลงถนนเคลื่อนไหวต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ก่อนจะเคลื่อนไปปักหลักชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และจบลงด้วยการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามประชาชน ระหว่าง 17-20 พ.ค. 2535 เรียกเหตุการณ์นี้ว่า "พฤษภาทมิฬ" โดยแกนนำคนสำคัญที่ถูกจับกุมกลางม็อบคือ "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" จากพรรคพลังธรรม

 

 

พรรคการเมืองที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. เวลานั้นคือ ความหวังใหม่ ประชาธิปัตย์ พลังธรรม และพรรคเอกภาพ ที่ร่วมกันกดดันให้ "บิ๊กสุ" ลาออก และเรียกร้องให้ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งในต่อมาสื่อมวลชนได้ตั้งฉายาพรรคการเมืองที่ร่วมต่อสู้กับประชาชนว่า "พรรคเทพ" ส่วนอีก 5 พรรคที่สนับสนุน พล.อ.สุจินดา เป็นนายกฯ ได้รับฉายาว่า "พรรคมาร" 

 

 

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬมีผู้เสียชีวิต 44 ราย และบาดเจ็บ 1,728 คน ถือเป็นความขัดแย้งทางการเมืองครั้งรุนแรงถัดจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 และทำให้ในที่สุด พล.อ.สุจินดา ยอมลาออกจากนายกฯ กระทั่งเกิด "รัฐบาลอานันท์ 2" แต่ก็ไม่ราบรื่น เนื่องจากหลัง "บิ๊กสุ" ประกาศลาออก ทาง 5 พรรคร่วมรัฐบาลในนาม "พรรคมาร" ได้เสนอชื่อ "พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์" หัวหน้าพรรคชาติไทย เป็นนายกฯ 

 

 

ทว่า "อาทิตย์ อุไรรัตน์" ประธานสภาฯ จากพรรคสามัคคีธรรม ทำหน้าที่รักษาการประธานรัฐสภา กลับตัดสินใจในนาทีสุดท้ายนำชื่อ "อานันท์ ปันยารชุน" ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลดอุณหภูมิทางการเมือง ต่อมามีการเลือกตั้งอีกครั้งในวันที่ 13 ก.ย. 2535 โดยพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการเลือกตั้ง ได้ สส. อันดับ 1 และได้จัดตั้งรัฐบาลผสม 4 พรรค ประกอบดัวย ประชาธิปัตย์, ความหวังใหม่, พลังธรรม และพรรคเอกภาพ มี "ชวน หลีกภัย" เป็นนายกฯ สมัยแรก

 

 

รัฐบาลชวนอยู่ได้ 2 ปีเศษก็ต้องยุบสภา เนื่องจากถูกฝ่ายค้าน นำโดย "บรรหาร ศิลปอาชา" ยื่นไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะ ระหว่าง 17-18 พ.ค. 2538 ซึ่งก่อนหน้านั้นในช่วงปลายปี 2537 รัฐมนตรีประชาธิปัตย์ 2 คน คือ "นิพนธ์ พร้อมพันธุ์" รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" รมช.เกษตรฯ ได้ชิงลาออกจากนโยบายแจกส.ป.ก.4-01 ให้คนรวย ไปก่อนแล้ว

 

 

ไฮไลต์การอภิปรายรัฐบาลชวนครั้งนั้นมีกลุ่ม 16 ซึ่งเป็นการรวมตัวของนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงที่นำโดย "เนวิน ชิดชอบ" และ "สุชาติ ตันเจริญ" เปิดฉากอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างเผ็ดร้อน ทำให้พรรคพลังธรรมของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ในฐานะพรรคร่วมงดออกเสียงให้รัฐบาล และก่อนการลงมติในวันที่ 19 พ.ค. 2538 "ชวน" ก็ตัดสินใจยุบสภา

 

 

การเลือกตั้งรอบใหม่ "บรรหาร" หัวหน้าพรรคชาติไทยพลิกกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และสมาชิกกลุ่ม 16 ขุนพลโค่นรัฐบาลชวนได้รับตำแหน่งตอบแทนถ้วนหน้า เช่น สุชาติ  เป็น รมช.มหาดไทย, เนวิน เป็น รมช.คลัง, สนธยา คุณปลื้ม รมช.อุตสาหกรรม

 

 

คราวนี้ถึงคิวประชาธิปัตย์ในฐานะฝ่ายค้านเอาคืนบ้าง โดยยื่นไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรัฐบาลบรรหารรายบุคคล 10 คน ระหว่าง 9-10 พ.ค. 2539 ประชาธิปัตย์ถล่มกลุ่ม 16 เกี่ยวพันกับ "ราเกซ สักเสนา" ที่ปรึกษาของแบงก์บีบีซี มีการกว้านซื้อที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์เป็นหลักประกันกู้เงินจากธนาคารวงเงินมหาศาล ทำให้ผู้บริหารธนาคารถูกลงโทษ และ "ราเกซ" หลบหนีไปแคนาดา ส่วนนักการเมืองกลับรอดคดี

 

 

การอภิปรายครั้งนั้นทำได้เพียง 7 จาก 10 คน เหลือ บรรหาร, เนวิน และชูชีพ หาญสวัสดิ์ ที่ยังไม่ถูกอภิปราย แต่ผลการลงมติ ปรากฎว่าพรรคพลังธรรมในฐานะพรรคร่วมงดออกเสียงไว้วางใจ "สุชาติ ตันเจริญ" ทำให้ได้เสียงไว้วางใจน้อยที่สุด สร้างความไม่พอใจในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล สุดท้าย สุชาติ และ เนวิน รวมทั้งรัฐมนตรีจากกลุ่ม 16 ต้องยอมลาออก

 

 

ต่อมา "บรรหาร" ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงคนเดียว ระหว่าง 18-20 ก.ย. 2539 อีกครั้ง ซึ่งเป็นศึกที่หนักหนาสาหัสที่สุดของชีวิตมังกรเติ้ง เนื่องจากขุนพลประชาธิปัตย์โจมตีบรรหารถึง 13 เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องบรรหารไม่มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในจีน (ซึ่งไม่จริง), เรื่องลอกวิทยานิพนธ์และการบริหารงาน ภายหลังการอภิปรายพรรคร่วมรัฐบาล คือ ความหวังใหม่ นำไทย และพรรคมวลชน ได้ต่อรองให้บรรหารลาออกภายใน 3 วัน แลกกับการลงมติไม่ไว้วางใจ ปรากฎว่ามังกรการเมืองอย่าง "บรรหาร" รับปากจะลาออกใน 7 วัน แต่เมื่อถึง 27 ก.ย. บรรหารก็ตัดสินใจยุบสภา

 

 

"รัฐบาลบิ๊กจิ๋ว" - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่เป็นรัฐบาลชุดต่อมา ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในปี 2540 จนได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค. 2540 นี่คือ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ที่รู้จักกันทั่วโลก เวลานั้น "บิ๊กจิ๋ว" และขุนคลังถูกครหาว่าขายชาติ กระทั่งเกิด "รัฐบาลชวน 2" ซึ่งกำเนิดตำนาน "งูเห่า" ทางการเมือง เมื่อ สส.พรรคประชากรไทย 12 คน นำโดย "วัฒนา อัศวเหม" โหวตสนับสนุนให้ "ชวน" เป็นนายกฯ จนถูกพรรคประชากรไทยขับออกจากสมาชิกพรรค แต่รัฐบาลชวนบริหารได้น่าผิดหวัง จึงได้ยุบสภาในปี 2543 

 

 

จุดเปลี่ยนทางการเมืองเริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง เมื่อ "ทักษิณ ชินวัตร" นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จก่อตั้งพรรคไทยรักไทยลุยสนามการเมือง ด้วยสโลแกน "ตาดูดาวเท้าติดดิน" ซึ่งไทยรักไทยสามารถคว้าชัยชนะการเลือกตั้ง เมื่อ 9 ก.พ. 2544 อย่างล้นหลามจำนวน 248 เสียง และไทยรักไทยถือเป็นรัฐบาลแรกที่มาจากการเลือกตั้งและอยู่ครบวาระครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

 

ในเวลานั้นคำว่า "พรรคเทพ-พรรคมาร" ได้เริ่มเลือนหายไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลง และต่างก็เชื่อว่าการรัฐประหารไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีก

 

 

จะเห็นได้ว่าการต่อสู้ทางการเมืองหลังปี 2535 เป็นต้นมานั้นได้สร้างบรรทัดฐานใหม่โดยที่นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้วางกรอบกติกาให้การเมืองมีการแบ่งขั้วกันชัดเจนขึ้นเพื่อข้ามข้อจำกัดการเป็นรัฐบาลผสมที่มักเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอายุสั้น ต่อมาพรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ โดยชนะเลือกตั้ง เมื่อ 6 ก.พ. 2548 อย่างถล่มทลาย 377 ที่นั่ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวสำเร็จ ทำให้ "ทักษิณ" ถูกค่อนขอดจากฝ่ายตรงข้ามว่า "เผด็จการรัฐสภา" 

 

 

รัฐบาลทักษิณ 2 อยู่ไม่ครบวาระ เนื่องจากทักษิณเริ่มลุแก่อำนาจแบบเบ็ดเสร็จมากขึ้น ประกอบกับ "สนธิ ลิ้มทองกุล" เริ่มก่อตัว "ม็อบเสื้อเหลือง" ไล่ทักษิณ และในที่สุดก็เกิดรัฐประหารโดยกองทัพอีกจนได้ เมื่อ 19 ก.ย. 2549 

 

 

"ม็อบไล่ทักษิณ" ถูกจุดชนวนจาก "รายการเมืองไทยรายสัปดาห์" ของ "สนธิ" ซึ่งไม่พอใจหลังรายการถูกปลดพ้นผังช่อง 9 เขาเริ่มจัดรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ทั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสวนลุมพินี เนื้อหาส่วนใหญ่วิพากษ์การบริหารงานของรัฐบาลทักษิณว่า ไม่โปร่งใสและมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะกรณีขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตรให้กับเทมาเส็กของสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี จนมีการนัดชุมนุมใหญ่ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อ 4 ก.พ. 2549 โดยใช้ชื่อ "ม็อบกู้ชาติ"  

 

 

ต่อมาม็อบสนธิก็ประกาศรวมกลุ่มกับ ครป. หรือคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย และเปลี่ยนชื่อกลุ่มผู้ชุมนุมเป็น "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" เมื่อ 9 ก.พ. 2549 โดยมวลชนสวมเสื้อเหลืองและมีมือตบเป็นสัญลักษณ์การชุมนุม จึงถูกเรียกว่า "กลุ่มคนเสื้อเหลือง" หรือม็อบพันธมิตรฯ แกนนำรุ่นแรก ได้แก่ สนธิ ลิ้มทองกุล, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สมศักดิ์ โกศัยสุข, สุริยใส กตะศิลา และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ โดยไฮไลต์การเรียกร้องของกลุ่มเสื้อเหลืองพุ่งเป้าไล่ทักษิณ และขอนายกฯ พระราชทาน โดยอาศัยมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ

 

 

พรรคการเมืองที่ร่วมสนับสนุนแนวทางนี้อย่างเช่น ประชาธิปัตย์เป็นหนึ่งของพรรคขั้วอนุรักษ์นิยมที่มีแกนนำไปร่วมขึ้นเวทีอยู่บ่อยครั้ง และเป็นขั้วหลักที่ต่อสู้กับ "ระบอบทักษิณ" ซึ่งเป็นขั้วเสรีนิยมมาแต่ต้น การชุมนุมของม็อบพันธมิตรฯ ยืดเยื้อ แม้ทักษิณจะยอมยุบสภา เมื่อ 24 ก.พ. 2549 โดยกำหนดให้เลือกตั้งเมื่อ 2 ม.ย. แต่สถานการณ์กลับตึงเครียดมากขึ้น เมื่อพรรคฝ่ายค้านคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ส่งผู้สมัคร สส. ขณะเดียวกันมีการจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้งเพื่อแย่งคะแนนโหวตโน ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ เดินหน้าชุมนุมต่อไป ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญจึงได้ตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ

 

 

ความขัดแย้งระหว่างสีเสื้อเริ่มปะทุ และรุนแรงมากขึ้น ท้ายที่สุดคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ก็ลงมือก่อรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย. 2549 ขณะที่ "ทักษิณ" อยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

 

 

การรัฐประหารครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการขนกำลังทหารและอาวุธเข้ายึดสถานที่ราชการที่สำคัญ และสร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก เนื่องจากมีประชาชนนำดอกไม้ไปมอบให้กับทหารท่ามกลางรถถัง นิตยสาร TIME ฉบับออนไลน์ถึงกับเลือกพาดหัวข่าวว่า "รัฐประหารอันครื้นเครงในประเทศไทย (A Festive Coup in Thailand)"
 

 

 

เหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ในบทเรียนประชาธิปไตย เมื่อ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" คนขับแท็กซี่ได้ขับรถพุ่งชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประท้วงคณะรัฐประหาร และในเวลาต่อมาลุงนวมทองได้ผูกคอเสียชีวิต เมื่อ 31 ต.ค. 2549

 

 

สถานการณ์เวลานั้น "ทักษิณ" ไม่ยอมถอย จึงเกิดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เมื่อปี 2550 เพื่อต่อต้านคณะรัฐประหาร ปี 2549 ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็น นปช. หรือกลุ่ม "คนเสื้อแดง" ซึ่งยืนหยัดอุดมการณ์อยู่ขั้วฝั่งตรงข้ามกับคนเสื้อเหลือง และเป็นพันธมิตรที่ปกป้องทักษิณ และแล้วสถานการณ์ก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นหลังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักไทย ด้วยมติเอกฉันท์ 9 เสียง เมื่อ 30 พ.ค. 2550 พร้อมตัดสิทธิ์การเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี 

 

 

ถัดมาพรรคพลังประชาชนของทักษิณพลิกฟื้นมาชนะการเลือกตั้ง เมื่อ 23 ธ.ค. 2550 โดยได้เสียงข้างมากจัดตั้ง "รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช" แต่สมัครก็ถูกสอยในคดีจัดรายการชิมไปบ่นไป ก่อนที่เก้าอี้นายกฯ มาตกอยู่กับ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" สามีเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของทักษิณ ซึ่งในช่วงรัฐบาลสมัครต่อเนื่องมาถึงสมชาย เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้วิธีสลายการชุมนุมคนเสื้อเหลืองด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ทำให้มีผู้คนบาดเจ็บล้มตาย และ "สมชาย" ก็เป็นนายกฯ คนเดียวที่ไม่มีโอกาสเข้าทำงานในทำเนียบรัฐบาลแม้แต่วันเดียว เพราะม็อบพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบฯ 

 

 

ในเดือน พ.ย. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ยังได้เข้าปิดล้อมสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง เพื่อกดดันให้ "สมชาย" ลาออก ส่งผลให้เที่ยวบินทุกเที่ยวต้องหยุดให้บริการ แต่ในที่สุดเกิดตุลาการภิวัตน์อีกครั้ง เมื่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคพลังประชาชน ทำให้ "สมชาย" ถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี และรัฐบาลพลังประชาชนก็มีอันปิดฉากลง 

 

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับไม้ต่อ ก้าวขึ้นตำแหน่งนายกฯ ในปี 2551 โดยวิธีการ "ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว" กับภูมิใจไทย หลังพรรคพลังประชาชนถูกยุบ (สุเทพดีลกับเนวินก่อนพลังประชาชนจะถูกยุบ) ทำให้คนเสื้อแดงซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. หรือ "คนเสื้อแดง" ก่อหวอดชุมนุมขับไล่อภิสิทธิ์อย่างหนักหน่วง ด้วยเหตุผลจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ซึ่ง "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เคยเล่าไว้ในหนังสือชีวประวัติ "กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ" ตอนหนึ่งว่า "ผมรู้ว่าคุณเนวินไม่ค่อยมีความสุขอยู่ในพรรคหลังจากที่คุณสมัครพ้นตำแหน่งนายกฯ แล้วพรรคหักหลังไม่เสนอชื่อเป็นนายกฯ อีก"

 

 

เขาอธิบายความสัมพันธ์ระหว่าง "เนวิน" และ "สมัคร" ว่า "ทั้งสองคนเขาไปกันได้ และที่ต้องยอมรับคือคุณสมัครได้ชื่อว่าเป็นคนที่จงรักภักดีต่อสถาบันมาก..คุณทักษิณเห็นว่าสั่งคุณสมัครไม่ได้ทุกเรื่องก็เลยเปลี่ยนเอาสมชาย น้องเขยตัวเองขึ้นมา" สุเทพชี้ว่า ตรงนี้คือจุดตายที่ทำให้ "คนที่ชอบพอและนิยมคุณสมัครทางการเมืองที่อยู่ในพรรคพลังประชาชนมีอาการไม่ค่อยชอบใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือคุณเนวิน" 

 

 

ที่มาของการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์จึงเป็นการ "ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว" โดยมี "สุเทพ" เป็นคีย์แมนเจรจาดึง "เนวิน" ให้ทิ้ง "ทักษิณ" เปลี่ยนขั้วมาร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นที่มาของประโยคอมตะที่ว่า "มันจบแล้วครับนาย" ทั้งคู่นัดกันที่อังกฤษ เวลานั้น "ทักษิณ" ก็พำนักอยู่ที่นั่นด้วย สุเทพเล่าว่า "ผมหาทางเจอคุณเนวินตอนที่เขาไปส่งลูกเรียนที่อังกฤษ ส่วนผมกับคุณศรีสกุลก็ไปส่งลูกเหมือนกัน จึงไม่มีใครรู้ ผมนัดเจอกันที่ร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ต่างคนต่างทำทีไปซื้อนาฬิกาแล้วก็ไปคุยกัน ผมก็พูดยืนยันกับเขาว่ารัฐบาลชุดนี้ไปไม่รอด...คุณกล้าตัดสินใจมาอยู่กับพวกผมไหม มาเปลี่ยนขั้วทางการเมืองกัน" 

 

 

เนวินแย้งสุเทพขึ้นมาว่า "จะเอาเสียงที่ไหนมาเพียงพอ พี่มีกี่เสียง" สุเทพตอบกลับว่า "ผมบอกว่า ไม่เป็นไร คุณไม่ต้องสนใจว่าผมมีเท่าไหร่ คุณทำใจไว้ก่อนก็แล้วกันว่า คุณเอาด้วยไหม ไปด้วยกันไหม" สุเทพย้ำกับเนวินอีกว่า "จะทำเพื่อชาติบ้านเมือง หรือจะหัวปักหัวปำอยู่กับระบอบทักษิณ"

 

 

สุเทพเล่าด้วยว่า ขากลับจากลอนดอน "บังเอิญขากลับเราได้นั่งเครื่องบินกลับมาเที่ยวเดียวกันอีก ก็ได้พูดคุยกันต่ออีกนิดหน่อย" เมื่อกลับถึงไทยได้ไม่นานศาลก็สั่งยุบพรรคพลังประชาชน และการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีระหว่างประชาธิปัตย์กับขั้วเนวินและพรรคร่วมก็เริ่มขึ้น

 

 

ในที่สุด "สุเทพ" ก็รวบรวมเสียงในสภาได้ 235 เสียง (ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เพื่อแผ่นดิน รวมชาติพัฒนา กิจสังคม และพรรคมาตุภูมิ) ส่งผลให้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 27 แต่การขับไล่อภิสิทธิ์ยังร้อนแรงต่อเนื่อง อาทิ เกิดเหตุการณ์คนเสื้อแดงบุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา เมื่อ 10 -11 เม.ย. 2552, เหตุการณ์คนเสื้อแดง นำโดย "แรมโบ้อีสาน"- สุภรณ์ อัตถาวงศ์ ตั้งเวทีปราศรัยยุยงปลุกปั่นจนผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และรุมกันทุบรถยนต์อภิสิทธิ์ เมื่อ 12 เม.ย. 2552 ซึ่งมี "นิพนธ์ พร้อมพันธ์" เลขาธิการนายกฯ ในขณะนั้นนั่งอยู่ในรถด้วย

 

 

ชนวนความขัดแย้งขยายผลต่อเนื่องเรื่อยมา โดยฝ่ายความมั่นคงรัฐบาลอภิสิทธิ์ได้ใช้ปฏิบัติการทางทหาร "ขอคืนพื้นที่" บริเวณสี่แยกคอกวัวจากกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง หรือเหตุการณ์ลองเลือด 10 เม.ย. 2553 ซึ่งมีนักรบปริศนา "ชายชุดดำ" ที่คาดว่าเป็น "ทหารแตงโม" ร่วมก่อเหตุด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 ศพ เป็นพลเรือน 16 ศพ และทหาร 5 นาย บาดเจ็บสองฝ่ายรวม 863 คน หนึ่้งในทหารที่เสียชีวิตคือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม หรือ เสธ.เปา อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเวลานั้นสื่อต่างประเทศระบุว่าเป็นเหตุการณ์เลวร้ายมากที่สุดของการเมืองไทยในรอบ 18 ปี นับจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 เป็นต้นมา

 

 

การชุมนุมขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ยืดเยื้อต่อเนื่อง กระทั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการ มีคำสั่งกระชับพื้นที่ชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ จนทหารเข้าสลายการชุมนุม เมื่อ 19 พ.ค. 2553 รวมเหตุการณ์เดือน เม.ย.จนถึง พ.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน

 

 

ปฏิบัติการครั้งนั้นมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. และมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรอง ผบ.ทบ. โดยต่อมาฝ่ายอนุรักษ์นิยมสร้างวาทะกรรมเหตุการณ์นี้ว่าคนเสื้อแดง "เผาบ้านเผาเมือง" จากเหตุเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ และสถานที่อื่นๆ อีกหลายจุด

 

 

"อภิสิทธิ์" ประกาศยุบสภาเมื่อ 9 พ.ค. 2554 และกำหนดให้เลือกตั้งอีกครั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยของทักษิณก็สามารถกวาด สส.เข้าสภาได้ 265 คน และ ดัน "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องสาวตัวเองในวัย 44 ปี ขึ้นเป็นนายกฯ คนที่ 28 (นายกฯ หญิงคนแรกของไทย)

 

 

แต่แล้ว "ยิ่งลักษณ์" ก็ต้องตกม้าตายเมื่อพรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ทำให้ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ นัดชุมนุมคัดค้าน เมื่อ 31 ต.ค. 2556 ก่อนพัฒนามาเป็นม็อบ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นม็อบ "คนเสื้อเหลือง" เวอร์ชั่น 2 ที่ทุกคนพร้อมใจกันห้อยนกหวีดไล่นายกฯ มักเรียกกันติดปากว่า "ม็อบนกหวีด" 

 

 

"ยิ่งลักษณ์" ยอมถอย หลังจาก "สุเทพ" ชัตดาวน์กรุงเทพฯ และปิดสถานที่ราชการหลายแห่ง โดยประกาศยุบสภาหนีแรงกดดัน เมื่อ 9 ธ.ค. 2556 จากนั้นเลือกตั้งอีกครั้งเมื่อ 2 ก.พ. 2557 แต่ถูก กปปส. ปฏิบัติการปิดคูหาเลือกตั้ง หลายหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งกับกลุ่มผู้ต้องการใช้สิทธิ์

 

 

จนในที่สุด กกต.ก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ และเมื่อ 3 มี.ค. 2560 กกต. ก็ยื่นฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้ง 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม กปปส. 39 คน อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถาวร เสนเนียม สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นต้น โดยเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท โดยศาลเลื่อนอ่านอุทธรณ์คดีกบฎ และให้ประกันตัวทุกคน

 

 

อีกกลุ่มฟ้องแพ่งกับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในความผิดฐานละเมิด โดยการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เนื่องจากปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่มีการทักท้วงแล้ว โดยเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาทเช่นเดียวกับกลุ่มแรก ความคืบหน้าทางคดีแพ่ง ศาลได้เห็นควรให้มีการจำหน่ายคดีแพ่งออกไปชั่วคราว 

 

 

เส้นทางประชาธิปไตยไทย 31 ปี จาก 2535 ถึง 2566 จึงวนอยู่ในอ่างไม่เข้าใกล้วิถีอารยประเทศ การทำคลอดรัฐธรรมนูญโดยคณะรัฐประหารสร้างกลไกเดดล็อคให้การบริหารประเทศบิดเบี้ยว เวลาสูญหายไปกับรัฐบาลเผด็จการทหารร่วม 9 ปี การเลือกตั้งปี 2566 ที่ประชาชนตื่นตัวไปใช้สิทธิ์มากถึง 39,293,867 คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52,238,594 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 75.22 ก็ไม่เป็นไปตามฉันทานุมัติเสียงส่วนใหญ่ พรรคก้าวไกลที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งถูก สว. เตะตัดขาไม่ให้บริหารประเทศ 

 

 

พรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่ามีอุดมการณ์ต่อต้านรัฐประหารอย่างพรรคไทยรักไทยที่ถูกยุบโดยขบวนการตุลาการภิวัตน์จนถึงพลังประชาชน และกลายมาเป็น "เพื่อไทย" ในปัจจุบันก็กลืนน้ำลายทำลายหลักการในหลายกรณี กระทั่งเข้าตาจนยอมจับมือกับพรรคฝั่งอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะภูมิใจไทยมิตรใกล้ตัวที่เคยหักหลัง และมีแนวโน้มจะดึงงูเห่าจากสองพรรคทหารจำแลง ซึ่งเพื่อไทยประกาศ "ไม่เอาลุง" ในช่วงหาเสียงมาเข้าร่วมรัฐบาลด้วย

 

 

คำถามคือ "ทักษิณ" ทำเพื่อใคร ทำไมยอมให้อุดมการณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดงที่เอาชีวิตและเลือดเนื้อเข้าแลกตั้งแต่ปี 2550 มาทำลายทิ้ง กลายเป็นพรรคการเมืองที่ไร้จุดยืน ยอมจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว โดยอ้างว่าทำเพื่อชาติให้ประเทศเดินหน้า แต่กลับบิดพลิ้วยอมสืบทอดอำนาจเผด็จการทหารที่ตัวเองกระอักเลือดจากกระบอกปืน จนต้องระหกระเหินไปอยู่ต่างแดน 

 

 

หรือ "ทักษิณ" กำลัง..."คิดใหม่เพื่อไทยทำ" ลืมอุดมการณ์แปรเปลี่ยนไปเป็นหัวหอก Neo-Conservative หรือ "อนุรักษ์นิยมใหม่" จึงยอมตั้งรัฐบาลไฮบริดส์  - แดงผสมน้ำเงินผสมเหลืองปกป้องกลุ่มทุนผูกขาด ด้วยในท้ายที่สุด "พรรคอนุรักษ์นิยม" ที่ไม่ปรับตัวให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่ไม่มีวันเหมือนเดิมจะค่อยๆ ตกขอบเวทีประวัติศาสตร์ไปเอง แต่ "ทักษิณ" ยอมละทิ้งแนวคิดเสรีนิยมเพราะมั่นใจว่าสามารถประนีประนอมกับกลุ่มประโยชน์ทางการเมืองในปัจจุบันได้ และสามารถต่อสู้กับ "พรรคเสรีนิยม" (Liberal) ที่มีคู่แข่งอย่าง "ก้าวไกล" ที่ตัวเองผลักให้ไปรออยู่ด่านรบแนวหน้า ซึ่งแนวทางนี้อาจเป็นการฟื้นคืน "พรรคเทพ-พรรคมาร" ให้เป็นทางเลือกกับประชาชนที่ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้งก็เป็นได้ 


อ้างอิงข้อมูล
https://www.the101.world/neocon/
https://www.springnews.co.th/news/election66/839582
https://thematter.co/brief/167465/167465
https://thestandard.co/onthisday06022548-2/
https://www.isranews.org/content-page/item/86040-isranews-86040.html
https://plus.thairath.co.th/topic/speak/101525
https://thematter.co/brief/136529/136529
https://voicetv.co.th/read/BJ_2_TfBQ
https://ptp.or.th/archives/18320
https://www.bbc.com/thai/thailand-40446319

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ