บันเทิง

Hugoจดหมายรักส่วนตัวของมาร์ติน

Hugoจดหมายรักส่วนตัวของมาร์ติน:หนังจอกว้าง โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร

           หากจะต้องพูดถึงอะไรสั้นๆ เกี่ยวกับหนังสามมิติอย่าง Hugo ที่เข้าชิงออสการ์เป็น 1 ใน 9 สัก 2 อย่างเสียแล้ว อย่างแรกผมจะบอกว่า หนังเรื่องนี้ไม่ได้ออสการ์หนังเยี่ยมเมื่อดูจากทางและโทนของเรื่อง ทีแม้จะดีมากก็ไม่ใช่สเปกของออสการ์ อย่างที่สอง น่าสนุกกว่า คือไม่ว่าเราจะดูฉากไหนๆ ในหนังเรื่องนี้ เราก็จะเห็น "นาฬิกา" ในรูปแบบต่างๆ ผ่านรูปทรงและสัญลักษณ์ต่างๆ
 
          เรียกว่ามีนาฬิกาทุกที่ไป ทั้งสถานีรถไฟ ห้องนอน โลกที่เหนือจริงและไม่ว่าที่ใดก็ตาม นั่นก็เพราะว่าธีมของหนังเรื่องนี้ มีอะไรเกี่ยวกับ time และเวลากันคนละแบบ Hugo เป็นหนังที่ดีนะครับ แต่ไม่ใช่หนังที่ออสการ์จะมองว่า เป็น the winner ซึ่งมันก็ไม่จำเป็นต้องแคร์ เพราะหนังของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ เองก็ไม่ได้สร้างแบบเบ้าของตัวละครให้มีลักษณะเอาใจตลาดอยู่แล้ว หลักฐานอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ แคแร็กเตอร์ของมาร์ติน สกอร์เซซี่ มักจะดูโดดเดี่ยวและแปลกแยกกับสถานที่ เมื่อที่ครั้งหนึ่ง เราน่าจะมองได้ว่าชื่อของ travis ของโรเบิร์ต เดอ นีโร ใน taxi driver นั้น คือตัวแทนทั้งหมดของตัวละครโดย มาร์ติน แต่สำหรับเรื่องนี้ แม้ไม่แปลกแยกมาก แม้ไม่สันโดษมาก แต่เรื่องราวทั้งหมดมันคือ ความรักส่วนตัวที่ผู้กำกับคนนี้มีต่อชีวิตหนังที่เติบโตมา
 
          การเติบโตมาในพื้นที่ส่วนหนึ่งของนิวยอร์กซิตี้ที่รู้จักกันในชื่อ little italy ในทศวรรษ 1940 และ 1950 ทำให้ มาร์ติน สกอร์เซซี่ พบความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับการชมภาพยนตร์ ไม่เพียงแต่จะได้รับประสบการณ์ในการดูหนังเท่านั้น แต่เขายังได้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับพ่อของเขา ที่นั่งอยู่ข้างๆ ในโรงภาพยนตร์ที่มืดสนิท เป็นการเพาะบ่มความรักซึ่งว่าที่ผู้กำกับผู้นี้มีต่อศิลปะภาพยนตร์ ดังนั้นเมื่อนิยายคว้ารางวัลของ ไบรอัน เซลซ์นิค เรื่อง The Invention of Hugo Cabret ถูกส่งมาวางอยู่บนโต๊ะเขาผ่านทางผู้อำนวยการสร้าง แกรห์ม คิง (ซึ่งก่อนนี้เคยร่วมงานกับสกอร์เซซี่มาแล้วในภาพยนตร์ถึงสามเรื่อง) ผู้กำกับรางวัลออสการ์ผู้นี้พบว่าเรื่องราวนี้เหมือนก้องสะท้อนชีวิตเขาอย่างลึกซึ้ง สำหรับสกอร์เซซี่แล้ว “มันคือความอ่อนไหวของเด็กคนหนึ่งที่กระแทกโดนใจเขามาก อูโก้ต้องอาศัยอยู่เพียงลำพังภายในกำแพงของนาฬิกาเรือนยักษ์ ภายในสถานีรถไฟ เขาพยายามจะสร้างความเชื่อมโยงกับพ่อของเขา ซึ่งได้จากเขาไปแล้ว”
 
          สกอร์เซซี่เคยเล่าว่า “ผมได้รับหนังสือเล่มนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว และมันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ประเภทที่ผมนั่งลงและอ่านมันจนจบเลย รวดเดียว มีความผูกพันในทันทีกับเรื่องของเด็กชายคนนี้ ความโดดเดี่ยวของเขา ความผูกพันที่เขามีต่อภาพยนตร์ และกับระบบเครื่องยนต์กลไกที่สุดสร้างสรรค์ ระบบกลไกต่างๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ อาทิเช่น กล้อง, เครื่องฉายโปรเจ็กเตอร์
และหุ่นออโตเมตัน ทำให้มันเป็นไปได้ที่อูโก้จะสร้างความผูกพันกับพ่อของเขาขึ้นมาอีกครั้ง และวัตถุที่มีกลไกเหล่านี้ก็ทำให้เป็นไปได้ที่ผู้กำกับภาพยนตร์ จอร์จส์ เมลิเย่ส์ จะกลับไปเชื่อมโยงกับอดีตของเขาอีกครั้ง และกับตัวเองเขาเอง”
 
          ในทางกลับกัน สกอร์เซซี่ ได้ร่วมแบ่งปันด้วยการมอบหนังสือเล่มนี้ให้แก่ลูกสาวคนเล็กของเขาได้อ่าน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อของเขาที่ว่าเรื่องนี้มีคุณสมบัติที่มีความมหัศจรรย์มาก “ในการอ่านหนังสือให้ลูกสาวผมฟัง เราได้ร่วมสร้างประสบการณ์กับเรื่องราวนี้อีกรอบ ดังนั้นมันเหมือนกับการค้นพบผลงานศิลปะอีกครั้ง แต่เป็นการมองผ่านสายตาของเด็ก”
 
          เจ้าของบทประพันธ์ ไบรอัน เซลซ์นิค เล่าถึงจุดกำเนิดของหนังสือของเขาเล่มนี้ว่า “มีอยู่จุดหนึ่งที่ผมจำได้ว่าได้ดูเรื่อง ‘A Trip to the Moon’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ปี 1902 ผลงานของ จอร์จส์ เมลิเย่ส์ และจรวดได้บินพุ่งเข้าสู่ตาของชายคนหนึ่งในดวงจันทร์ ภาพนั้นติดแน่นในจินตนาการของผม ผมอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับเด็กคนหนึ่งที่ได้พบเมลิเย่ส์ แต่ผมไม่รู้ว่าพลอตเรื่องจะเป็นยังไง หลายปีผ่านไป ผมเขียนและวาดภาพประกอบหนังสือเรื่องอื่นๆ อีก 20 เล่ม จากนั้น ในปี 2003 ผมบังเอิญหยิบหนังสือเรื่อง Edison’s Eve ของเกบี้ วู้ด มันเป็นประวัติศาสตร์ของหุ่นออโตเมตัน และที่สร้างความประหลาดใจให้ผมมาก บทหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นพูดถึงเรื่องของเมลิเย่ส์”
 
          ดูเหมือนว่าหุ่นยนต์ "ออโตเมตัน" ของเมลิเย่ส์ (เป็นหุ่นเมคานิคที่ใช้พลังงานจากกลไกไขลานและสปริง ซึ่งจะทำงานด้วยตัวมันเอง) ถูกบริจาคให้แก่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งเมื่อตัวเมลิเย่ส์จากไป หุ่นเหล่านี้ถูกนำไปเก็บเอาไว้ในห้องใต้หลังคา ซึ่งลงเอยด้วยการถูกลืม และค่อยๆ ผุพังไปเพราะน้ำฝน และในที่สุด ก็ถูกโยนทิ้งไป เซลซ์นิคเล่าต่อไปว่า “ผมจินตนาการว่ามีเด็กชายคนหนึ่งป่ายปีนผ่านกองขยะไป และพบหุ่นยนต์ที่พังไปแล้วตัวหนึ่ง ในตอนแรกผมไม่รู้ว่าเด็กชายคนนั้นเป็นใคร และผมไม่รู้จักแม้แต่ชื่อของเขา ผมคิดว่าชื่อ อูโก้ ฟังดูเป็นฝรั่งเศสดี และคำภาษาฝรั่งเศสอีกคำหนึ่งที่ผมนึกออกก็คือ คาเบร่ต์ และผมก็คิดว่า คาเบร่ต์ น่าจะฟังดูเป็นนามสกุลฝรั่งเศส แค่นั้นแหละ อูโก้ คาเบร่ต์ก็ถือกำเนิดขึ้น”
 
          จากการค้นคว้าเรื่องของหุ่นออโตเมตันและนาฬิกา, ชีวิตของเมลิเย่ส์และนครแห่งแสงสีในทศวรรษ 1920 และ 1930 ได้เติมเชื้อไฟให้กับจินตนาการของนักเขียนผู้นี้ และเรื่องราวของเด็กที่รักการผจญภัยที่อาศัยอยู่ภายในกำแพงของสถานีรถไฟในกรุงปารีส ก็ถือกำเนิดขึ้น และหลอมรวมกับเรื่องราวของตัวละครที่มีสีสันมากมายที่อยู่รอบๆ ตัวเขา เสริมด้วยเรื่องราวการค้นพบทั้งตัวหุ่นออโตเมตันที่ถูกทอดทิ้งตัวหนึ่งและผู้กำกับที่ถูกลืม
 
          และคุณยังมีหนังสือของเซลซ์นิคที่วาดภาพประกอบได้อย่างงดงามเรื่อง The Invention of Hugo Cabret (A Novel in Words and Pictures) The Invention of Hugo Cabret (A Novel in Words and Pictures) ที่ตีพิมพ์ในปี 2007 ได้รับรางวัล Caldecott Medal ในปี 2008 (เป็นรางวัลที่มอบโดยสมาคมห้องสมุดสำหรับเยาวชน ที่มอบให้แก่เจ้าของผลงานหนังสืออเมริกันสำหรับเยาวชนที่โดดเด่นที่สุด) และเป็นหนังสือวาดภาพที่เยี่ยมที่สุดประจำปี 2007 ของ The New York Times มันคือหนังสือเบสท์เซลเลอร์อันดับหนึ่งของ New York Times และยังเข้ารอบสุดท้ายในการเข้าชิงรางวัลเนชั่นแนลบุ๊ค อวอร์ด เพื่อจำลองประสบการณ์ในผลงานของเซลซ์นิค สกอร์เซซี่หันไปใช้รูปแบบภาพยนตร์ที่แตกต่างไปจากเดิม เขาเล่าว่า “ในฐานะคนดูหนัง เราไม่ได้มีข้อได้เปรียบแบบตัวหนังสือ ซึ่งคุณจะเข้าใจถึงความคิดและความรู้สึกในใจของอูโก้ แต่กับภาพยนตร์เรื่องนี้ เรามีใบหน้าและมีการกระทำของเขาให้เห็น และเรายังมีระบบ 3D เนื้อเรื่องจำต้องถูกเปลี่ยนแปลงไประดับหนึ่ง ดังนั้นหลายองค์ประกอบจะถูกลดความสำคัญลงจากตัวหนังสือ แต่ผมคิดว่าภาพต่างๆ โดยเฉพาะในรูปแบบของ 3D สามารถชดเชยสิ่งที่หนังสือมีได้”
 
          สกอร์เซซี่ พยายามให้เกียรติกับผลงานของเซลซ์นิคในทุกการตัดสินใจ เขาให้ความเห็นไว้ว่า “ไบรอัน เซลซ์นิคและหนังสือของเขาคือแรงบันดาลใจ เรามีหนังสือเล่มนี้ติดตัวตลอดเวลา หนังสือมีภาพลักษณ์ที่โดดเด่น ขณะที่ภาพยนตร์ของเราก็มีภาพลักษณ์และความรู้สึกที่เป็นเอกลักษณ์ของมันเอง มันแตกต่างไปจากหนังสือที่เป็นภาพขาวดำ เรายังผสมความเป็นจริงและโลกจินตนาการเข้าด้วยกัน”
 
          หนัง Hugo เข้าฉายเงียบๆ แต่ดีมาก หวังว่ามันจะได้มีคนดู โดยไม่ออกไปอย่างเงียบเชียบ...
...................
(หมายเหตุ Hugoจดหมายรักส่วนตัวของมาร์ติน:หนังจอกว้าง โดย... นันทขว้าง สิรสุนทร)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม