บันเทิง

Let the Bullets Fly

เมื่อมองจากตัวหนังอย่างผิวเผิน เจียงเหวิน น่าจะเป็นคนทำหนังประเภทห่ามห้าว มุทะลุดุดัน เพราะหนังของเขาแต่ละเรื่อง ล้วนเต็มไปด้วยการตัดต่อ ฉับไว ลูกเล่นหวือหวา และอารมณ์ขันขื่น เป็นตลกร้ายซึ่งภายใต้เสียงหัวเราะนั้น ปรากฏเรื่องราวชวนสะท้อนสะเทือนใจอยู่กลายๆ

 มีบางคนจัดกลุ่มเขาให้เป็นหนึ่งในผู้กำกับรุ่นที่ 6 ซึ่งได้รับการยกย่องไม่แพ้รุ่นพี่ผู้กำกับรุ่นที่ 5 อย่าง จางอวี้โหมว, เฉินค่ายเก๋อ และเทียนซวงซวง งานเขาค่อนข้างจะแตกต่างจากผู้กำกับรุ่นเดียวกันอย่าง เจี่ยจางเค่อ, จางหยวน และโหลวเหย่ ที่งานด้านภาพและจังหวะการตัดต่อในหนังของคนเหล่านั้นเต็มไปด้วยความเนิบช้า ในขณะที่หนังของเจียงเหวินนั้น กลับหวือหวา และในหลายฉากหลายตอนหนังของเขาให้ความรู้สึกเหนือจริง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนแต่เป็นหนังที่สะท้อนความเป็นไปในสังคมการเมืองการปกครองของจีน เสียดเย้ย ไปจนถึงเหยียดหยันถึงขั้นถูกห้ามฉายในบ้านเกิด และถึงขั้นถูกรัฐบาลสั่งห้ามทำหนังกันมาแล้ว เอกลักษณ์อีกอย่างของคนทำหนังรุ่นนี้ก็คือ หนังของพวกเขามีความเป็นส่วนตัวสูง จนหลายครั้งถูกมองว่าดูไม่รู้เรื่อง

 ผลงานหนังที่ผ่านๆ มาของเจียงเหวินก็อยู่ในข่ายนี้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องก่อนหน้าอย่าง “The Sun Also Rises” ที่มีโอกาสเข้าฉายบ้านเราเมื่อสามสี่ปีก่อน นอกจากงานด้านภาพที่เต็มไปด้วยความหวือหวา และสีสันจัดจ้านแล้ว เราไม่อาจเข้าถึงเนื้อหาหรือประเด็นใดๆ ในหนังของเขาได้เลย (หนังถูกแบ่งออกเป็นสี่เรื่องย่อยๆ โดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันเลย) แต่ถ้าย้อนกลับไปในปี 2000 งานสร้างชื่อของเขาเรื่อง “Devils on the Doorstep” หนังขาวดำตลกร้ายเสียดสีสงคราม กับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในจีนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อชาวนาจับทหารญี่ปุ่นสองนายเป็นเชลย ก่อนจะเกิดการเผชิญหน้าและลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมในนาทีสุดท้าย ความยอดเยี่ยมของหนังคือการได้รับรางวัลกรังด์ปรีซ์จากเทศกาลเมืองคานส์ ฝรั่งเศส ในปีที่ออกฉาย พร้อมๆ กับถูกแบนในประเทศจีนเวลาเดียวกัน

 ผลงานล่าสุดของเจียงเหวินเรื่อง “Let the Bullets Fly” มีลีลาไม่ต่างกัน หากแต่หวือหวา โฉ่งฉ่าง และเต็มไปด้วยฉากบู๊ล้างผลาญมากกว่า (แน่นอนว่ารวมถึงทุนสร้างที่มากกว่าหลายเท่าตัว) หนังเล่าถึงจอมโจรที่ปลอมตัวมาเป็นเจ้าเมือง และต้องมาหักเหลี่ยมเฉือนคมกับเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลประจำเมือง เพื่อแย่งชิงฐานมวลชน แม้ภาพลักษณ์จะออกไปทางหนังแก๊งสเตอร์ แต่ดูเหมือนจะสอดแทรกประเด็นทางการเมืองอยู่เป็นนัย น่าเสียดายที่ความคมคายอันสะท้อนอยู่ในเนื้อหาเหล่านั้นถูกฉากตลกโปกฮาและฉากแอ็กชั่นทำลายล้างประเภทถล่มตึก ระเบิดภูเขา กลบไปเสียหมด หลายๆ ฉากหลายๆ ตอนในหนัง เรียกได้ว่า เจียงเหวิน เล่นอย่างมันมือเลยทีเดียว และแน่นอนว่า การต่อล้อต่อเถียง ชิงไหวชิงพริบระหว่างเจ้าเมือง(ปลอม) กับเจ้าพ่อ มีหลายครั้งที่เขาเล่นหนักมือเสียจนเราตามไม่ทันและถึงขั้นดูไม่รู้เรื่องในบางครั้ง

 ลักษณะสำคัญในหนังของเจียงเหวิน ที่รู้สึกได้ทั้งจาก “Devils on the Doorstep” และ “Let the Bullets Fly” คือการเสียดสีชนชั้นปกครอง จากมุมมองของชาวบ้านผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ซึ่งต้องรับนโยบายแปลกประหลาดพิกลพิการของรัฐใน ‘Devils’ พอมาถึง ‘Bullets’ เจียงเหวินก็สะท้อนการปกครองของจีนในช่วงยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งเต็มไปด้วยการคอรัปชั่นและเหล่าผู้มีอิทธิพลเถื่อน ผ่านการใช้ความรุนแรงโดยไม่ประนีประนอมใดๆ

 วิธีการวิพากษ์ระบอบการเมืองการปกครองของจีนระหว่างผู้กำกับรุ่นที่ 5 กับรุ่นที่ 6 นั้น แทบไม่แตกต่างกัน หากต่างกันเพียงยุคสมัยที่พวกเขาต่างเคยมีประสบการณ์ร่วม หนังของผู้กำกับรุ่นที่ 5 มักสะท้อนสังคมอันบอบช้ำของคนจีนผ่านช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของประธานเหมาเจ๋อตุง เช่นในหนัง “To Live” ของจางอวี้โหมว และ “Farewell My Concubine”ของ เฉินค่ายเก๋อ หรือแม้แต่ “The Blue Kite” ของเทียนซวงซวง ขณะที่งานของผู้กำกับรุ่นที่ 6 เหน็บแนมการปกครองระบอบสังคมนิยมจากวิสัยทัศน์อันต่ำสั้นของผู้นำ ผ่านยุคสมัยต่างๆ ด้วยมุมมองที่สมจริงและเหนือจริง เช่นในงานของ เจียงเหวิน โดยเฉพาะการบอกเล่าด้วยลีลาและสายตาของหนังตลกร้ายอย่างร้ายกาจ

 ขอแสดงความคารวะสักหนึ่งจอกสำหรับความองอาจของท่าน
 หมายเหตุ : ดู “Let the Bullets Fly” อย่างถึงอกถึงใจ ขอแนะนำควรดูพากย์ไทยโดยทีมพากย์พันธมิตร

ชื่อเรื่อง : Let the Bullets Fly คนท้าใหญ่
ผู้เขียนบท-กำกับ : เจียงเหวิน
นักแสดง : เจียงเหวิน, โจวเหวินฟะ, เกอโหย่ว, หลินเจียหลิง
เรตติ้ง : น.18+ ภาพยนตร์ที่เหมาะสมสำหรับผู้ชมอายุ 18 ปีขึ้นไป
วันที่เข้าฉาย : 13 เมษายน 2554

"ณัฐพงษ์ โอฆะพนม"

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม