ข่าว

"อนุสรณ์" จี้ รัฐสภาต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3 หวัง ส.ว. 1ใน3 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ" จี้ รัฐสภาต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ3 หวัง ส.ว. 1ใน3 เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ด้าน ผศ.ดร.วรรณภา" ยก "3 ต้อง" ที่รัฐธรรมนูญที่ดีต้องมี ขณะที่ "ยิ่งชีพ" ฝากถึง ส.ว.ให้ทำตามอำนาจที่มีในมือ แล้วอธิบายต่อสังคมด้วย

12 มี.ค.64 วงเสวนา “รัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” นำโดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ ดร.วรวิทย์ กนิษฐะเสน อดีตเอกอัครราชทูต ผศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายยิ่งชีพ อชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายรัฐธรรมยูญก้าวหน้า ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
 

โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ประชาชนชาวไทยจะได้ร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญนั้นไม่สามารถทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยได้ แต่รัฐธรรมนูญจะเป็นกติกาสูงสุดซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐบาล ความสัมพันระหว่างองค์กรของรัฐ ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ก็จะเป็นพื้นฐานและจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะทำให้ประชาธิปไตยของไทยสมบูรณ์ดังเช่นเจตนารมณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ ไม่ได้หมายถึงจะเป็นเพียงประชาธิปไตยทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ มีวัฒนธรรมมีวิธีคิด มีทัศนะแบบประชาธิปไตยด้วย ซึ่งการจะขับเคลื่อนให้เป็นไปดังกล่าวนั้นจะต้องมีการวางกติกาสูงสุดของประเทศให้อยู่บนหลักการประชาธิปไตยก่อน

“ประชาธิปไตยสมบูรณ์หลายคนอาจจะสงสัยไม่เข้าใจว่าคืออะไร 89 ปีของประชาธิปไตยไทย ถามว่าเรามีประชาธิปไตยกันจริงๆสักกี่ปี วันนี้เราไม่อาจบอกได้ว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย เพราะเพียงแค่รัฐธรรมนูญก็เห็นแล้วว่าไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากมีคนเพียงไม่กี่คนที่สามารถเลือกและแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน มาเลือกนายกรัฐมนตรี” ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวต่อว่า ในวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ รัฐสภาต้องเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม จะแก้ได้หรือไม่ ไม่เป็นไร ก็จะต่อสู้และเรียกร้องให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยต่อไป และหาก ส.ว.มีการคว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ3ก็จะได้รู้ว่าใครมีจุดยืนแบบไหน และจะได้รู้ว่าพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเองว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยแล้วเข้าร่วมรัฐบาลชุดนี้จะทำอย่างที่ประกาศเอาไว้หรือไม่ แต่ก็ยังหวังว่าจะมี ส.ว. สักจำนวนหนึ่ง 1ใน 3 ที่เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม เห็นแก่ความก้าวหน้า เห็นแก่ประชาธิปไตยของประเทศนี้ เห็นแก่การที่สังคมไทยไม่ต้องมาเผชิญหน้าขัดแย้งกันในเรื่องรัฐธรรมนูญอีก แล้วเดินหน้าวาระ3 ต่อไปนี้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนได้หรือไม่

ด้าน ผศ.ดร.วรรณภา กล่าวว่า รัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ที่มีการแสดงการก่อสร้างความเป็นรัฐ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญนั้นไม่เท่ากับประชาธิปไตย เพราะบางประเทศมีรัฐธรรมนูญแต่ก็ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตย 

อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังเป็นเครื่องมือในการสร้างพลเมือง เป็นเครื่องมือในการจัดสรรโครงสร้างทางการเมือง ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่ดี จะต้องมี 3 ต้อง คือ ต้องไม่เป็นตัวปัญหาในการสร้างเงื่อนไขวิกฤติความขัดแย้ง ต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ และต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับทางออกของปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ส่วนนายยิ่งชีพ กล่าวว่า วันนี้เป็นสัปดาห์ที่เดินมาถึงทางแยกอีกครั้ง คือ ทางหนึ่งเป็นโอกาสในการนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยแบบถูๆไถๆ ส่วนอีกทางคือการเดินย้อนกลับถอยหลัง ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าเราจะเดินไปทางไหน ทั้งนี้ขอฝากไปยัง ส.ว.ทั้ง 250 คนที่จะลงมติในวาระ3 ในวันที่ 17 มีนาคมนี้ว่าอำนาจอยู่ในมือท่าน จะทำอะไรก็ทำไปตามอำนาจที่มี แต่ต้องอธิบายต่อประชาชนให้ได้ และหากการอ้างว่าการให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 100% จะทำให้ใครก็ไม่รู้ได้เช็คเปล่าเพื่อไปเขียนรัฐธรรมนูญแล้วแก้ไขเรื่องเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไรก็ได้ แปลว่าท่านคิดและรู้อยู่แล้วว่าประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ทุกคนที่ออกมารวมตัวกันมีความเชื่อเหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นมีปัญหา และเป็นอุปสรรคต่อการได้มาของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ซึ่ง 3 เสาหลักที่ดีที่ก้าวหน้าของรัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วย 3 ก้าว คือ

1.ต้องก้าวสังคมพ้นจากวิกฤต โดยต้องทำให้กติกาสูงสุดของประเทศเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้ โดยกติกานั้นก็ต้องเขียนโดยคนทุกฝ่ายในสังคมมีส่วนร่วม

2.ก้าวสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่ค่อนข้างยากลำบากกว่าการที่เพียงมีรัฐธรรมนูญที่ทุกคนยอมรับ โดยต้องยืนหยัดว่าเนื้อหาในรัฐธรรมนูญนั้นต้องสอดคล้องกับหลักมาตรฐานประชาธิปไตยสากล

3.ก้าวทันโลกแห่งอนาคต ทำอย่างไรให้รัฐธรรมนูญออกแบบโครงสร้างรัฐที่มีความคล่องตัวรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วได้
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ