เขย่าตุลาการอีกรอบ "ชำนาญ" ค้านตั้ง "อนุรักษ์" นั่งประธานแผนกคดีทุจริตฯชี้ต้องโปร่งใสไร้มลทิน
จับตาการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญในวงการตุลาการ "ชำนาญ" ชี้ผู้ที่จะรับตำแหน่งปธ.แผนกคดีทุจริตต้องเคลียร์ตัวเองให้โปร่งใส
วันที่ 14 ส.ค. 64 นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา กล่าวภายหลัง ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.)และกรรมการกต.เรื่องคัดค้านการแต่งตั้ง นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ว่า ตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ ต้องมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ชำนาญ ระวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา
"คนที่ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจะเป็นดำรงตำแหน่งนี้ คงไม่เหมาะสม ควรให้ผู้ที่ถูกร้องเรียนไปชี้แจงให้เรียบร้อยก่อน ให้ปราศจากข้อสงสัยก่อนและค่อยมาว่ากันอีกที เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งสำคัญ ที่คดีทุจริตจะไปยุติที่ศาลอุทธรณ์" นายชำนาญ กล่าว
ส่วนกรณีที่ ตนเอง ได้ ยื่นหนังสือถึง ประธานศาลฎีกา ให้ตรวจสอบ เรื่องของแชทไลน์ ล็อบบี้ เลือก ก.ต. คนนอก นั้น จนถึงขณะนี้ ประธานศาลฎีกายัง ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าให้ทราบ ว่า ดำเนินการตรวจสอบเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า เรื่องร้องเรียนอื่นนั้น จะช้าหรือเร็วตนเองก็ไม่ขัดข้อง แต่เรื่องนี้ต้องดำเนินการตรวจสอบ โดยด่วน เพราะหากสอบสวนแล้วได้ความว่ามีการหาเสียงโดยผิดกฎหมาย ก็จะมีผลมากต่อการเข้าสู่ตำแหน่ง ของก.ต.บุคคลภายนอก เป็นอย่างมาก
นายชำนาญ ยังกล่าวอีกว่า ในการเลือก ก.ต.บุคคลภายนอก ผิดไปจากเจตนารมย์เดิม เพราะ เมื่อ 32 ปี ที่ ผ่านมา ขณะที่ ตนเองดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ขณะนั้น มีวิกฤต ก.ต. ผู้พิพากษา ทั่วประเทศไปประชุมกันที่ พัทยา จ.ชลบุรี ตนเอง เป็นผู้เสนอโครงสร้าง ก.ต.บุคคลภายนอก ให้มาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร , ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นตัวแทนของประชาชน ให้เข้ามาตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ต. ถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจการทำงานของ ก.ต.อีกครั้ง
จากนั้น กฎหมายเปลี่ยน ให้ ก.ต.บุคคลภายนอก มาจาก วุฒิสภา ก็ยังพอไหว เพราะบุคคลที่ วุฒิสภา ส่งมาถือว่า เป็นผู้แทนของประชาชน ก็ยังคงเป็นไปตามเจตนารมย์ดั้งเดิม แต่พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากศาลเห็นว่า ตำแหน่ง ก.ต.บุคคลภายนอก ควรมาจากการ เลือกกันเอง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ มองว่า ผิดไปจากเจตนารมณ์ดั้งเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"ชำนาญ"พร้อมทำคำชี้แจง...ยันไม่แทรกแซงผู้พิพากษา
โปรดเกล้าฯแต่งตั้ง ประธานศาลฎีกา
จับตาแต่งตั้งโยกย้ายแวดวงตราชั่ง ส่อแวววุ่นหลายเก้าอี้
อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ยังกล่าวถึงกรณีที่ ได้แจ้งความ ดำเนินคดีกับ นายอนุรักษ์ เพราะ ขณะนั้น นายอนุรักษ์ ที่ดำรงตำแหน่งเป็น ก.ต. ได้ร่วมลงมติ เอามติเดิม ที่เห็นชอบให้แต่งตั้งนายชำนาญ เป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญการพิเศษและสำนักงานศาลยุติธรรม ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วกลับมาทบทวนและกลับมติ ก.ต.เดิมเป็นไม่ให้ความเห็นชอบรวมทั้งลงมติให้นายชำนาญพ้นจากราชการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
โดยมองว่า การกระทำดังกล่าว ถือว่า เป็นเรื่องใหญ่มีความผิดตามมาตรา 112 เป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ จึงได้แจ้งความในกรณีนี้ที่ สน. ชนะสงคราม เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 จากนั้นได้ยื่นร้องไปที่ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบ และฟ้องศาลให้เพิกถอนมติดังกล่าวด้วย
ขณะที่ ผู้สื่อข่าว สอบถามกรณี ไปยัง นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ไม่สะดวกที่จะให้ข้อมูลและไม่ขอพูดเรื่องดังกล่าว
อนึ่ง เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกาในฐานะประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.)และกรรมการกต.เรื่องคัดค้านการแต่งตั้งนายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์
โดยมีใจความสำคัญว่า ตามที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตุลาการวาระ1ต.ค.2564 (บัญชี4) ลำดับที่115 (นายอนุรักษ์)ไปดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์นั้น ตนได้มีหนังสือร้องเรียนลงวันที่15เม.ย.2564ถึงประธานศาลฎีกาขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกรณีมีเหตุควรสงสัยว่าข้าราชการกต.ทำผิดวินัยกรณีหาเสียงให้กต.ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา36(3) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ปรากฏว่ามีผู้ใช้โปรไฟล์ไลน์ J29Anurak และภาพถ่ายนายอนุรักษ์เป็นหนึ่งในผู้โพสต์ข้อความในไลน์สภาตุลาการ อันมีลักษณะหาเสียงให้นายไผทชิต เอกจริยกรและนายจำนง เฉลิมฉัตรในการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ
หนังสือร้องเรียนระบุว่าแต่ประธานศาลฎีกายังไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวอันเป็นการเข้าลักษณะการหาเสียงตามประกาศคณะกรรมการศาลยุติธรรมเรื่องแนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับจริยธรรมในการหาเสียง วันที่3ต.ค.2557 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา17วรรคสี่ และมีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา17และมาตรา62 โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอนุรักษ์เป็นกต.ที่ต้องควบคุมและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายหรือฝ่าฝืนจริยธรรมของกต.
“มาตรา 37 วรรคสามแห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ ประกอบกับข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ 9 ยังกำหนดหน้าที่ของกต.เกี่ยวกับการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา36 (1)(2)(3) ที่ระบุว่าการวินิจฉัยของกต.ให้ถือเป็นที่สุดรวมทั้งมาตรา41 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯระบุว่ากรณีข้อสังสัยการพ้นตำแหน่งของกต.ผู้ทรงคุณวุฒิบัญญัติให้กต.เป็นผู้ชี้ขาด ดังนั้นมีกฎหมายกำหนดหน้าที่โดยตรงของนายอนุรักษ์ซึ่งเป็นกต.ในขณะนั้นในการดูแลกระบวนการเลือกตั้งกต.ผู้ทรงคุณวุฒิให้ถูกกฎหมาย อีกทั้งมาตรา17วรรคสี่ แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯ และข้อบังคับของปรานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ.2561 ข้อ29 ระบุชัดเจนถึงการไม่ให้หาเสียงเพื่อให้กต.ลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลที่จะวินิจฉัยคือกต.
ดังนั้นนายอนุรักษ์ซึ่งเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิในศาลอุทธรณ์ในขณะนั้นย่อมมีหน้าที่โดยตรงในการวินิจฉัยการเลือกกต.ผู้ทรงคุณวุฒิในขณะนั้น แต่ปรากฏว่านายอนุรักษ์พบว่าผู้พิพากษาหลายรายโพสต์ข้อความให้มีการลง/งดเว้นการลงคะแนนเลือกบุคคลเป็นกต.ผู้ทรงคุณวุฒิให้ผู้สมัครรายหนึ่งรายใดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและจริยธรรม นายอนุรักษ์กลับไม่ห้ามปรามและนายอนุรักษ์กลับเข้าร่วมด้วยในการหาเสียงให้นายไผทชิตและนายจำนง การกระทำที่ผิดวินัยของนายอนุรักษ์ที่มีผลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตามมาตรา17วรรคสี่แห่งพ.ร.บ.ระเบียบฯยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา172 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ”ใจความในหนังสือร้องเรียนของนายชำนาญระบุ
หนังสือร้องเรียนระบุว่า นายชำนาญยังคัดค้านอีกประการหนึ่งว่า นายอนุรักษ์จงใจใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการนำมติกต.ครั้งที่8-9/2562 ที่เห็นชอบให้แต่งตั้งนายชำนาญเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญการพิเศษและสำนักงานศาลยุติธรรมส่งหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้วกลับมาทบทวนและกลับมติกต.เดิมเป็นไม่ให้ความเห็นชอบรวมทั้งลงมติให้นายชำนาญพ้นจากราชการโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
หนังสือร้องเรียนของนายชำนาญ ระบุว่า การที่กต.จะเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งบุคคลใดให้ดำรงตำแหน่งประธาน แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์นั้นควรต้องไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติมิชอบด้วยกฎหมายหรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และตนยังแจ้งความที่สน.ชนะสงคราม ต่อนายอนุรักษ์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 รวมทั้งร้องเรียนไปที่สำนักงานปปช.กล่าวโทษนายอนุรักษ์ ฐานเป็นเจ้าพนักงานรัฐปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
“ย่อมเป็นการไม่เหมาะสมที่กต.จะให้ความเห็นชอบและนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายอนุรักษ์ให้ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์ ที่นายอนุรักษ์ยังมีคดีอยู่ที่สำนักงานปปช. และยังคัดค้านนายไผทชิตและนายจำนง กต.ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมลงมติในครั้งนี้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในเรื่องนี้”หนังสือร้องเรียนของนายชำนาญระบุ