ข่าว

อบจ.สีแดง ‘ธรรมนัส’ ลุยพะเยาโมเดล ‘อัครา’ นำร่องสู่ชายคาชินวัตร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สูตรสำเร็จพะเยาโมเดล ธรรมนัส หนุนอัครา ปั้น อบจ.สีแดง ใต้ชายคาชินวัตร น้องชายนำร่อง ก่อนพี่ใหญ่เคลื่อนทัพในเลือกตั้งครั้งหน้า

สองพี่น้องตระกูล ‘พรหมเผ่า’ กำลังสร้างพะเยาโมเดลสูตรบ้านใหญ่

 

 

อบจ.สีแดง ธรรมนัส สานต่อพะเยาโมเดล หนุนอัครา สู่ชายคาชินวัตร คล้ายน้องชายนำร่อง ก่อนพี่ใหญ่เคลื่อนทัพในเลือกตั้งครั้งหน้า

 

13 ปีที่แล้ว ธรรมนัส คืนถิ่นเมืองกว๊าน โค่นบ้านใหญ่ตระกูลตันบรรจง ยึดท้องถิ่น อบจ. สยายปีกคุม สส.เบ็ดเสร็จ กลายเป็นพะเยาโมเดล

 

ในงาน ‘10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10’ ของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2567 ช่วงหนึ่ง สรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้เปิด ตัวว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.รวม 9 คน

 

ที่น่าสนใจคือ อัครา พรหมเผ่า น้องชาย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ซึ่งปัจจุบัน อัคราเป็นนายก อบจ.พะเยา และจะลงสนามต่อสมัยหน้าในสีเสื้อเพื่อไทย

 

การปรากฏตัวของ อัครา พรหมเผ่า ในฐานะว่าที่ผู้สมัครนายก อบจ.พะเยา พรรคเพื่อไทย อาจตอบข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดแกนนำเพื่อไทย จึงยอมยกกระทรวงเกษตรฯ ให้ ร.อ.ธรรมนัส ดูแลทั้งหมด

 

รวมถึงกรณีพลังประชารัฐ ส่งรายชื่อ อนันต์ ผลอำนวย สส.กำแพงเพชร เป็นแคนดิเดต รมช.เกษตรฯ แต่ ร.อ.ธรรมนัส ส่งชื่อ อรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา และอรรถกรก็ได้เป็น รมช.เกษตรฯ

 

ดูนายใหญ่จะไว้เนื้อเชื่อใจ ร.อ.ธรรมนัส เพราะมีผลงานจากการเลือก ตั้ง สส.ที่ผ่านมา ซึ่งเวลานี้ เขามี สส.พลังประชารัฐ อยู่ในซุ้มไม่ต่ำกว่า 25 คน

 

สิ่งหนึ่งที่ประมุขบ้านจันทร์ส่องหล้า เชื่อฝีมือ ร.อ.ธรรมนัส ก็คือ การทำงานการเมืองในพื้นที่ จ.พะเยา ยึดครองใจคนเมืองกว๊านได้สำเร็จ


ยุคประชานิยม สส.พะเยา 3 เขต สังกัดพรรคของทักษิณ ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2554 แต่เป็น สส.เสาไฟฟ้า ที่มากับกระแสนายใหญ่ชินวัตร ต่างจาก ร.อ.ธรรมนัส ที่เป็น สส.เสาเข็ม

คนคุ้นเคยบ้านจันทร์ส่องหล้า


จริงๆแล้ว ร.อ.ธรรมนัส ไม่ใช่คนแปลกหน้าของตระกูลชินวัตร เขาเดินตาม เสธ.ไอซ์-พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต นายทหาร ตท.10 เพื่อนร่วมรุ่นกับทักษิณเข้าพรรคไทยรักไทย

 

ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ธรรมนัสขยับเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย และหวนกลับบ้านเกิด สร้างฐานการเมืองท้องถิ่น

 

ปี 2554 ธรรมนัส หนุน วรวิทย์ บุรณศิริ ลงสมัครนายก อบจ.พะเยา และโค่นไพรัตน์ ตันบรรจง อดีตนายก อบจ.หลายสมัย ซึ่งการเอาชนะบ้านใหญ่ตันบรรจง ทำให้บารมีธรรมนัสในพะเยาเบ่งบาน  

 

ปี 2557 ธรรมนัส เป็นผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แต่เลือก ตั้งปีนั้นโมฆะ เพราะมีปัญหาทางการเมือง

 

ปี 2562 สถานการณ์เปลี่ยน ธรรมนัสจำต้องไปเป็นแม่ทัพพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็ยังมีเยื่อใยกับบ้านจันทร์ส่องหล้า   

ฟ้าใหม่ที่กว๊านพะเยา

 

เริ่มตั้งแต่ปี 2555 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สนับสนุนให้น้องชาย อัครา พรหมเผ่า ทำงานในตำแหน่งรองนายก อบจ.พะเยาระหว่างนั้น อัคราได้ก่อตั้งกลุ่มฮักบ้านเกิดพะเยา ช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน ตามแนวทางพะเยาโมเดล สองพี่น้อง ธรรมนัส-อัครา เป็นบุตรชายของอินจันทร์ พรหมเผ่า อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่ากลองใหม่ อ.เมือง จ.พะเยา

 

อัคราเรียนจบมัธยมจากโรงเรียนพะเยาวิทยาคม ปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนักเรียนนอกจากประเทศออสเตรเลีย สาขาบริหารธุรกิจจากTAFE Sydney Australia ปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ก่อนเข้าสู่การเมืองท้องถิ่น อัคราเคยเป็นประธานบริหารบริษัทในเครือ บริษัท ธรรมนัส กรุ๊ป ที่มีธุรกิจหลายด้าน เป็นผู้วางรากฐาน ด้าน ICTของบริษัท

 

ปี 2563 อัครา เสนอตัวชิงเก้าอี้นายก อบจ.พะเยา ในนามกลุ่มฮักพะเยา ซึ่งเจอคู่แข่งจากคณะก้าวหน้า น้องชายผู้กองเอาชนะไปได้สบายๆ

 

ปี 2567 อัครา เตรียมลงสมัครนายก อบจ.พะเยา สมัยที่ 2 ในสีเสื้อเพื่อไทย ซึ่งเป็นไฟท์บังคับ และเป็นหลักประกันในศึกเลือกตั้งทั่วไปปี 2570 ตระกูลพรหมเผ่า จะเคลื่อนไพร่พลมาอยู่บ้านหลังใหม่หัวใจสีแดง

 

วิถีทางเดินนักการเมืองลูกข้าวนึ่ง ร.อ.ธรรมนัส ได้สร้างพะเยาโมเดลสำเร็จไปมากกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว ซึ่งไม่ต่างจากบุรีรัมย์โมเดลหรือสุพรรณบุรีโมเดล สูตรสำเร็จการเมืองบ้านใหญ่

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ