ข่าว

นายกฯ ชี้ซื้อขายบัตรคณะผู้ติดตาม เข้าออกทำเนียบ ปัญหาใหญ่ต้องจัดการ

ยิ่งสาวยิ่งเจอ "เศรษฐา" ชี้ซื้อขายบัตรคณะผู้ติดตาม เข้าออกทำเนียบ เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการออกบัตร พร้อมเปิดขั้นตอนชงตั้ง “ที่ปรึกษา-เลขาฯ ประจำ กมธ.”

5 ก.ค. 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี การซื้อขายบัตรคณะผู้ติดตาม คณะทำงาน ทำเนียบรัฐบาลฯ ที่ตอนนี้ยิ่งสาวก็ยิ่งเจอ โดยจะต้องมีการสะสางปัญหานี้หรือไม่ ว่าหากยิ่งสาวยิ่งเจอ ก็แสดงว่าเป็นปัญหาใหญ่ ต้องนำมาจัดการให้ถูกต้อง

นายกฯ ชี้ซื้อขายบัตรคณะผู้ติดตาม เข้าออกทำเนียบ ปัญหาใหญ่ต้องจัดการ

 

ส่วนจะต้องมีการพิจารณาจำนวนคณะผู้ติดตามทั้ง ผู้ติดตามคณะรัฐมนตรี หรือที่ปรึกษาฯ ต่างๆ ให้มีเท่าตามความจำเป็นหรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า เวลาที่ตนลงพื้นที่ ก็ได้กำชับว่าพยายามให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับหน้างานจริงๆ เดินทางไป เพราะอาจหนึ่งก็เป็นเรื่องของการสิ้นเปลืองงบประมาณ และอาจจะทำให้สูญเสียโอกาส ในการบริหารงาน พร้อมย้ำว่าขอให้ไปด้วยความจำเป็นจะดีกว่า

 

เมื่อถามว่าการออกบัตรผู้ติดตาม จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า ต้องดูก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร และจากนั้นก็ต้องหาทางแก้ ซึ่งการออกบัตรที่เข้มข้นก็อาจจะเป็นหนึ่งในวิธีนั้น

 

นายกฯ ชี้ซื้อขายบัตรคณะผู้ติดตาม เข้าออกทำเนียบ ปัญหาใหญ่ต้องจัดการ

เปิดขั้นตอนการชงตั้ง "ที่ปรึกษา-เลขาฯประจำ กมธ."

 

ขั้นตอนการเสนอขอแต่งตั้ง “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” ต่าง ๆ นั้น สส.ที่เป็นกรรมาธิการฯ จะมีโควตาในการเสนอขอแต่งตั้งเลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ และ “ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” ซึ่งมีรายงานว่า เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการบางคณะ มีการเสนอแต่งตั้งกันเป็นสิบ ๆ โดยเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งในบันทึกการประชุม จะไม่มีการระบุว่า สส.คนใด เป็นผู้เสนอชื่อ และไม่ต้องมีการลงนามรับรองการแต่งตั้งใด ๆ และเมื่อที่ประชุมมีมติแต่งตั้งแล้ว ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็น “ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” และ “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” ก็จะได้รับใบกรอกประวัติ เพื่อออกบัตรประจำตำแหน่ง และสำหรับเข้า-ออกอาคารรัฐสภา

 

“ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” และ “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” สามารถเสนอความเห็นในที่ประชุมได้ แต่ไม่มีอำนาจในการลงมติ เพราะอำนาจการลงมติจะต้องเป็น สส. ที่เป็นกรรมาธิการตัวจริง ซึ่งก็จะมีทั้งประธานกรรมาธิการ, รองประธาน, ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ, โฆษกกรรมาธิการ และเลขานุการคณะกรรมาธิการ ที่เป็น สส.เท่านั้น ดังนั้น ตำแหน่ง “ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” และ “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” จึงเสมือนเป็นตัวประกอบของกรรมาธิการ ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่งมีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อ เพื่อรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้

 

นอกจากนั้น ประธานกรรมาธิการแต่ละคณะ จะมีอำนาจในการแต่งตั้ง “ที่ปรึกษาประจำประธานกรรมาธิการ” ซึ่งเป็นตำแหน่งลอย ไม่มีค่าตอบแทน แต่จะมีบัตรประจำตัว เพื่อเข้า-ออกรัฐสภา

 

 

ทั้งนี้ ผู้ที่ “ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” จะได้รับเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท และ “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” จะได้รับเงินเดือน เดือนละ 5,000 บาท มีหน้าที่เข้าร่วมการประชุมตามวันที่กรรมาธิการกำหนด ก่อนเข้าร่วมการประชุมจะต้องลงนามเข้าร่วมการประชุมหน้าห้องกรรมาธิการ แต่จะไม่มาประชุมเลยก็ได้ ไม่มีกำหนด และไม่มีการบังคับให้เข้าร่วมประชุม และการเสนอแต่งตั้งข้าราชการประจำกรรมาธิการ ก็ไม่กล้าก้าวก่าย เพราะเป็นเรื่องการเสนอของ สส.

 

อย่างไรก็ตาม ในอดีตการเสนอแต่งตั้ง “ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” และ “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” ในอดีตนั้น จะเป็นไปเพื่อตอบแทนให้กับผู้สมัคร สส.ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลที่ทำงานในพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้ง เพื่อเป็นตำแหน่งปลอบใจ ให้มีตำแหน่งและได้มีบทบาทในการทำหน้าที่

 

ทั้งนี้ แหล่งข่าวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีว่า ก่อนหน้านี้ตั้งแต่สภาผู้แทนราษฎร ชุดการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เคยได้ยินเรื่องการซื้อขายตำแหน่งกันในกรรมาธิการแต่ไม่ทราบในรายละเอียด และยังเคยได้ยินว่า บางคณะกรรมาธิการ สส.ที่เป็นกรรมาธิการฯ จะจ่ายเงินให้กับประธานกรรมาธิการ เพื่อการเสนอแต่งตั้ง “ที่ปรึกษาประจำกรรมาธิการ” และ “เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการ” และให้ได้รับบัตรพิเศษ หรือ บัตรเบ่ง เพื่อให้เป็นคนมีตำแหน่งต่อไป

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ