ป.ป.ช. ฟันอาญา-วินัย อดีต 'ผอ.สำนักพุทธฯ' ทุจริต เงินทอนวัด 30 ล้าน
ป.ป.ช. ฟันอาญา-วินัย 'นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์' อดีต 'ผอ.สำนักพุทธฯ' พร้อมพวก คดี ทุจริต เงินทอนวัด เสียหายกว่า 30 ล้าน 'พระครู' โดนด้วย
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 20 ธ.ค. 2566 ชี้มูลความผิด ทั้งอาญาและวินัยร้ายแรง ต่อนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักพุทธฯ (พศ.) กับพวก “ทุจริตเงินทอนวัด” จำนวน 8 สำนวน 8 วัด มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ กับพวก ร่วมกันทุจริตเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและพัฒนาวัด ประจำปี 2557 ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่จัดสรรให้กับ วัดโพธิ์ทอง วัดตำหนัก (ภาวนาราม) และวัดจงกลณี จ.พระนครศรีอยุธยา, วัดเพลง(กลางสวน) กรุงเทพมหานคร, วัดใหญ่ จ.สมุทรปราการ, วัดเกาะแก้วอรุณคาม จ.สระบุรี, วัดห้วยจระเข้ จ.นครปฐม และวัดกลางเหนือ จ.สมุทรสงคราม รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท
กรณีของวัดโพธิ์ทอง วัดตำหนัก และวัดจงกลนี นายนพรัตน์ ได้อนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวัดละ 1-2 ล้านบาท ทั้งที่วัดไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินอุดหนุนไปยัง พศ. ผ่านเจ้าคณะพระสังฆาธิการ เจ้าสังกัดและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองตามลำดับ
โดยมีเงื่อนไขว่า วัดที่ขอรับเงินอุดหนุน จะได้รับเงินอุดหนุนเพียงร้อยละ 10 ของเงินที่ได้รับเท่านั้น ส่วนอีกร้อยละ 90 จะต้องส่งคืนให้กับ พศ. เพื่อนำไปสนับสนุนวัดในถิ่นทุรกันดาร และวัดใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งหลังได้รับเงิน มีการแจ้งเจ้าอาวาสให้เบิกเงินอุดหนุนดังกล่าว มาคืนให้ น.ส.ประนอม คงพิกุล
โดยวัดโพธิ์ทองได้รับเงิน 90,000 บาท วัดตำหนักได้เงิน 100,000 บาท วัดจงกลนี ได้รับเงิน 2,000,000 บาท แต่ต้องจ่ายคืนให้กับ น.ส.ประนอม 1,600,000 บาท ทำให้ได้รับเงินจริงเพียง 400,000 บาท
ส่วนอีก 5 วัดที่เหลือ เป็นกรณีอ้างว่า วัดขอรับเงินอุดหนุนเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์ เนื่องจากประสบวินาศภัย โดยวัดห้วยจระเข้ วัดใหญ่ วัดละ 4 ล้านบาท, วัดเพลง(กลางสวน) และวัดเกาะแก้วอรุณคาม วัดละ 5 ล้านบาท, วัดกลางเหนือ 10 ล้านบาท ทั้งที่ในข้อเท็จจริง วัดไม่เคยมีคำขอรับเงินอุดหนุนและไม่ได้ประสบวินาศภัย
ดังนั้น การกระทำของ นายนพรัตน์กับพวก เป็นการอนุมัติเงินอุดหนุนวัด ไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ ทำให้เกิดความเสียหายต่อ พศ. แม้ภายหลังวัดจะเบิกเงินมาใช้บูรณปฏิสังขรณ์วัดจริง โดยไม่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รัฐไปเรียกรับเงิน หรือขอเงินคืนจากงบประมาณที่ได้รับไปก็ตาม แต่ ป.ป.ช.ก็เห็นว่า การกระทำของนายนพรัตน์ ทั้ง 8 สำนวนคดี มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, มาตรา 151, มาตรา 157, มาตรา 162(1)(4) ประกอบมาตรา 83 พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 423/1
นอกจากนี้ ยังชี้มูลความผิดอาญา พระครู ปลัดวิสุทธิวัฒน์ (ไพโรจน์ บุญโสม), พระมหาสมบัติอาภากโร(สมบัติ ระสารักษ์), นางวรัญญู เพชรรัตน์, น.ส.ประนอม, นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ตามมาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พ.ร.ป.ว่าด้วยป.ป.ช. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 423/1 รวมถึงชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงต่อนายนพรัตน์ น.ส.ประนอมและนายวสวัตติ์ เพิ่มด้วย
โดย ป.ป.ช.ได้ส่งรายงานการไต่สวนสำนวนเอกสารและคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจ รวมถึงส่งไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินคงวามผิดทางวินัยตามฐานความผิด พร้อมแจ้งให้ผู้บังคับบัญชา ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 ด้วย
สำหรับ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานนท์ ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีเงินทอนวัดหลายสำนวน และกรณีร่ำรวยผิดปกติวงเงิน 575 ล้านบาท ไปแล้ว