Lifestyle

พระปิดตา 'หลวงพ่อรุณ' วัดช้างเผือกพิมพ์ไม่มีสุญญัง เนื้อดินข

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ต้น อ้อมน้อย


 

          หนึ่งในของดีเมืองแม่กลอง พระปิดตาหลวงพ่อรุณ วัดช้างเผือก พิมพ์ไม่มีสุญญัง เนื้อดินขุยปู


          ชาติภูมิ นามเดิม “รุณ” เกิดเมื่อวันพุธ เดือน ๖ ปีระกา พ.ศ.๒๓๙๒ ที่บ้าน ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี โยมบิดาชื่อ “รุ่ง” โยมมารดาชื่อ “น้อม” ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด ๔ คน

 


          ชีวิตในวัยเยาว์ โยมบิดาได้นำท่านไปฝากไว้กับ พระอาจารย์ภู่ ที่สำนักเรียนวัดประตูสาร เพื่อร่ำเรียนอักขระสมัยไทย-ขอม จนกระทั่งเมื่ออายุครบบวช ได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ณ พัทธสีมาวัดประตูสาร มี พระอาจารย์ภู่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ดี และ พระอาจารย์นวม เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาทางธรรมว่า "พุทธสโร"

 

          เมื่อครองอยู่ในสมณเพศแล้ว ท่านได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์ตามจารีตประเพณี และศึกษาพระธรรมวินัย จนสามารถสวดปาฏิโมกข์ได้อย่างคล่องแคล่ว ต่อมาท่านได้ศึกษาการรุกขมูลธุดงควัตรจาก พระอาจารย์แสวง วัดตะค่า


          ในพรรษาที่ ๖ ท่านได้เดินทางไปงานศพโยมยาย ที่ จ.สมุทรสงคราม ได้พบกับ หลวงปู่เอี่ยม วัดเกษมสรณาราม (วัดบางจาก) จึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์ ต่อมาโยมบิดาของท่านได้ถึงแก่กรรมลง โยมมารดาจึงชักชวนท่านให้กลับมาอยู่ จ.สมุทรสงคราม อันเป็นภูมิลำเนาบ้านเกิด


          หลวงพ่อรุณ จึงมาจำพรรษาที่วัดบางจาก ท่านได้ใช้ช่วงเวลานี้ ธุดงควัตรเข้าป่าลึก ได้พบกับแพทย์แผนโบราณ ผู้มากด้วยความรู้ จึงได้ศึกษาวิชาตำรับตำรายาสมุนไพรต่างๆ ตลอดจนพุทธาคมชั้นสูง จากพระอาจารย์หลายท่านที่พบในป่า


          ต่อมาท่านได้เดินทางกลับ จ.สมุทรสงคราม ในขณะนั้นตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดช้างเผือกได้ว่างลง ชาวบ้านตลอดจนเหล่าทายกทายิกา ได้มองเห็นถึงศีลาจารวัตรของหลวงพ่อรุณ จึงได้พร้อมใจกันนิมนต์ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสสืบต่อ


          ในสมัยที่ท่านปกครองวัดช้างเผือก มีพระภิกษุทั่วทุกสารทิศมาปักกลดในบริเวณวัดเป็นจำนวนมาก เนื่องจากหลวงพ่อรุณมีความเชี่ยวชาญในการออกรุกขมูลธุดงควัตร มีลูกศิษย์ลูกหาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาเรียนหลายรูป อาทิ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม, หลวงพ่อหรีด วัดเพลง, หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี, หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน เป็นต้น


          ในด้านวัตถุมงคล ท่านได้สร้างไว้เพียงไม่กี่ชนิด อาทิ เหรียญหล่อพระพุทธสมาธิ เนื้อสำริด, เนื้อทองผสม และพระปิดตา เนื้อดินขุยปู ในที่นี้จะกล่าวถึง พระปิดตา เนื้อดินขุยปู ซึ่งแยกออกเป็น ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์มีสูญญัง และไม่มีสูญญัง


          พุทธลักษณะองค์พระ เป็นรูปทรงวงรี (รูปไข่) องค์ภวัมบดี (พระปิดตา) ประทับบนฐานหมอน ใต้ฐานมีสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “สุญญัง” คล้ายเลข ๑ กลับด้าน
ด้านหลังองค์พระเรียบ บางองค์มีรอยจาร และลายนิ้วมือคลึงรอบองค์พระ สนนราคาการเช่าหาอยู่ที่หลักหมื่นกลาง สำหรับพิมพ์มีสุญญัง และหลักหมื่นต้น สำหรับพิมพ์ไม่มีสุญญัง


          ถึงกาลมรณภาพ หลวงพ่อรุณ ได้ละสังขารเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๘ สิริรวมอายุได้ ๖๖ ปี พรรษา ๔๖

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ