Lifestyle

เช็กด่วน อาหาร ที่อาจเป็นสาเหตุของ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ภัยร้ายหน้าร้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หน้าร้อนเป็นช่วงที่ต้องระวังสุขภาพ โดยเฉพาะในเรื่องของ อาหาร การกิน ที่มักทำให้ท้องไส้ปั่นป่วนได้ ซึ่งอีกหนึ่งโรคที่ต้องระวังในช่วงหน้าร้อนแบบนี้ คงหนีไม่พ้น 'โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน'

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน หมายถึง การถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชม. และมีอาการมานานไม่เกิน 7 วัน อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ส่วนใหญ่โรคอุจจาระร่วงมักจะหายเองภายใน 2-3 วัน ซึ่ง พญ.จิตราภา แสนโภชน์ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลนวเวช ได้ตอบคำถามพร้อมอธิบายอาการของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเอาไว้อย่างละเอียด สำหรับนำไปสังเกตตัวเองและคนรอบข้าง หากมีอาการดังกล่าวจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยสาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ การติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย โปรโตซัว หรือได้รับพิษของแบคทีเรียที่ปนเปื้อนใน อาหาร เป็นต้น

 

เช็กด่วน อาหาร ที่อาจเป็นสาเหตุของ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ภัยร้ายหน้าร้อน

 

อาการของ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

 

  • ถ่ายเหลวเป็นน้ำ เป็นมูก หรือมีเลือดปน
  • ปวดท้อง ปวดบีบเกร็ง หรือ ปวดบิดๆในท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว
  • อาการของการขาดน้ำ ได้แก่ ปากแห้ง เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม ชีพจรเต้นเร็ว

 

สาเหตุของ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

 

  • สาเหตุที่พบได้บ่อย ในโรคอุจจาระร่วง ได้แก่ การติดเชื้อ และได้รับพิษจากแบคทีเรียในอาหาร
  • การติดเชื้อที่พบบ่อย ได้แก่ โรต้าไวรัส โนโรไวรัส  แบคทีเรีย โปรโตซัว พยาธิ

 

นอกจากนั้นยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ ได้แก่ การกินอาหารรสจัด หรือ อาหาร ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองของระบบทางเดินอาหาร ภาวะย่อยน้ำตาลแลคโตสบกพร่อง การได้รับยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยารักษาเบาหวานบางชนิด ยารักษาโรคเก๊าท์ ยาระบาย

 

 

อาหาร ที่อาจเป็นสาเหตุของ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

 

  • อาหารที่รับประทานโดยไม่ผ่านการปรุงสุก โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ดิบ อาหารทะเล
  • ผักสด และผลไม้ ที่ไม่ได้ล้างให้สะอาด
  • นม หรือผลิตภัณฑ์จากนม ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ
  • อาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือ พิษของเชื้อ

 

 

การปฏิบัติตนเมื่อมีอาการอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

 

  • รับประทานน้ำเกลือแร่ โดยจิบบ่อยๆ เป็นระยะ หากมีอาการท้องเสียบ่อยครั้ง เพื่อชดเชยภาวะการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย
  • รักษาด้วยยาตามอาการ ได้แก่ ยาแก้ปวดบิดเกร็งในช่องท้อง ยาแก้คลื่นไส้ หรืออาเจียน ยาลดอาการท้องร่วง ยาแก้ไข้
  • รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ อาจมีความจำเป็นในบางราย ควรได้รับการปรึกษาจากแพทย์ก่อน
  • รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ด รสจัด อาหารมัน
  • ควรไปพบแพทย์ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีไข้ หรืออุจจาระมีเลือดปน หรือมีอาการของการขาดน้ำ ได้แก่ เวียนหัว หน้ามืด เป็นลม ร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนของอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ได้แก่ ผู้ป่วยอายุ>65 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ

 

วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วง

 

  • รับประทานอาหารปรุงสุก และ สะอาด
  • รับประทานผักสด และ ผลไม้ ที่ผ่านการล้างอย่างสะอาดเท่านั้น
  • ล้างมือด้วยสบู่ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำเสมอ

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ