Lifestyle

เช็ก 3 สัญญาณอันตราย 'โรคลมชัก' ในเด็ก เกิดอาการแบบนี้ต้องทำอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช็ก 3 สัญญาณอันตราย เกร็ง กระตุก เหม่อลอย สัญญาณอันตราย 'โรคลมชัก' ในเด็ก ก่อนส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กให้ล่าช้า ถดถอย

โรคลมชัก เป็นโรคทางระบบประสาทในเด็กที่พบบ่อย ซึ่งเกิดจากการทำงานที่ปกติของสมอง โดยเด็กจะมีอาการเกร็ง กระตุก เหม่อลอย อาจจะรู้ตัวหรือไม่ก็ได้ หากไม่รีบรักษาจะส่งกระทบต่อพัฒนาการของเด็กทำให้ล่าช้า ถดถอย อีกทั้งยังส่งผลต่อการเข้าสังคม และการเรียน

 

นพ.ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์

​           

นพ.ศุภชัย เลาหพงศ์สมบูรณ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านประสาทวิทยา โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า โรคลมชักในเด็ก เกิดจากคลื่นไฟฟ้าสมองทำงานผิดปกติจนทำให้เกิดอาการชัก ซึ่งปัจจุบันมีทั้งทราบสาเหตุและไม่ทราบสาเหตุ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง เช่น สมองได้รับบาดเจ็บจากการขาดออกซิเจน อุบัติเหตุกระทบกระเทือนศีรษะ การติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียที่ระบบประสาท

 

 

สาเหตุของ โรคลมชัก สามารถเกิดได้ตั้งแต่ช่วงก่อนคลอด, ระหว่างคลอด และหลังคลอด

 

  • ก่อนคลอด อาจพบได้ในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน และความผิดปกติตอนตั้งครรภ์ รกเกาะต่ำ แคลเซียมเกาะรกเยอะ สาเหตุเหล่านี้ทำให้เด็กขาดออกซิเจน
  • ระหว่างคลอด อาจจะมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น รกพันคอ ภาวะคลอดก่อนกำหนด สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสมองทำให้สมองขาดออกซิเจนหรือภาวะการติดเชื้อที่สมอง
  • หลังคลอด เด็กทารกอาจจะติดเชื้อหลังคลอด เกิดอุบัติเหตุกระทบกระเทือนศีรษะ เนื้อสมองที่เจริญผิดปกติ เนื้องอกสมอง เป็นต้น

 

 

อาการชัก มีหลายรูปแบบ แบ่งง่ายๆ เป็น

  1. อาการชักที่มีอาการให้เห็นชัดเจน เช่น เกร็ง กระตุก
  2. อาการชักที่ไม่มีอาการชัดเจน เช่น เหม่อ ภาวะรู้สึกผิดปกติ การหยุดทำกิจกรรมกระทันหัน เป็นต้น ซึ่งชักลักษณะนี้ สังเกตุได้ยาก ผู้ป่วยมักจะมาด้วย อาการง่วง สัปปหงกบ่อย ผลการเรียนลดลง ดังนั้น ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด

 

สำหรับการรักษา โรคลมชัก 60-70% สามารถควบคุมและรักษาหายได้ด้วยยา แต่แพทย์จะต้องวินิจฉัยก่อนว่าเป็นโรคลมชักที่มาจากสาเหตุใดเพื่อให้การรักษาอย่างถูกต้อง ปัจจุบันมียากันชักหลายชนิด โดยการเลือกใช้ยากันชัก แพทย์จะเป็นคนพิจารณาเลือกยาตามประเภทของชัก อายุของผู้ป่วย และสาเหตุของโรคลมชัก  นอกจากนี้ยังมีการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น อาหารคีโต, ยาสเตียรอยด์, ยาวิตามินขนาดสูง สำหรับผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา อาจต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด เช่น การฝังเครื่องกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส การผ่าตัดสมอง เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการของลูกหากมีอาการเกร็ง กระตุก เหม่อลอย เรียกแล้วไม่รู้สึกตัว หรืออาการที่สงสัยชัก ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยหาสาเหตุโรคและการทำการรักษาอย่างทันท่วงที

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ