ข่าว

‘อ.จุฬาฯ’ เปิดผลวิจัยเชิงลึก พบ ‘พ่อแม่ตกงาน’ สิ้นหวัง ทำ 'เด็กหลุด’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน' อ.จุฬาฯ เปิดผลวิจัยเชิงลึก ถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษามีอะไรบ้าง พบ ‘พ่อแม่ตกงาน’ สิ้นหวัง ‘ทำเด็กหลุด’ แนะรัฐบาลมีมาตรการเร่งด่วน มารองรับ

นโยบายเรียนฟรี แต่ฟรีไม่จริง ทำเด็กหลุดจากระบบการศึกษาจำนวนมาก โดยเมื่อปีการศึกษา 2565 กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รายงานตัวเลขอยู่ที่ 100,000 คน( หนึ่งแสนคน)

 

อะไรเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ 'เด็กหลุด' พลาดโอกาสได้เรียนหนังสือในสถานศึกษา ล่าสุดมีผลวิจัยศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ประถม-ม.ต้น เด็กหลุด มากที่สุด

ดร.สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานข้อค้นพบจากการวิจัยเชิงลึก จำนวน 848 กรณีศึกษา ของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. พบว่า เด็กช่วงชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น เป็นกลุ่มที่อยู่ในภาวะวิกฤตหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด ทั้ง ๆ ที่อยู่ภายใต้นโยบายเรียนฟรี

 

สาเหตุที่ทำให้เด็กหลุดมีอะไรบ้าง

ผลวิจัยเชิงลึกพบสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้นักเรียนหรือเด็กหลุดจากระบบการศึกษาเชื่อมโยงครอบครัวทั้งหมด ได้แก่

1.ผู้ปกครองมีรายได้น้อย โดยรายได้ของครัวเรือนที่มีเด็กกลุ่มวิกฤตฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 900 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่หนี้สิ้นอยู่ที่ 40,000 บาทต่อครัวเรือน ทำให้แต่ละครอบครัวมีหนี้สินสูงกว่ารายได้ประมาณ 45 เปอร์เซ็นต์

2.ผู้ปกครองไม่มีงานทำ และตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง

3.ไม่มีค่าเดินทางมาเรียน

4.ครอบครัวแตกแยก พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

5.ถูกทอดทิ้งไม่มีผู้อุปการะทางการศึกษา ซึ่งทั้งหมดส่งผลให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้

พ่อแม่ตกงาน ทำให้ลูกหลุดจากระบบการศึกษา

 

 

เด็กหลุดมีปัญหาซับซ้อน

การวิจัยในพื้นที่ยังพบว่าเด็กวิกฤตการศึกษาจำนวน 73 เปอร์เซ็นต์ มีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โยงใยมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย เมื่อเข้าสู่โปรแกรมช่วยเหลือพบว่าการให้เงินอุดหนุนช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เด็กพ้นวิกฤตได้ แต่ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ด้วย 

 

ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ที่มุ่งสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจน สามารถยืนหยัดขึ้นมาพึ่งพาตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้

 

“จากการลงพื้นที่เราพบว่าครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ทัศนคติเหล่านี้ยังส่งผลลบมาถึงอนาคตทางการศึกษาของบุตรหลานอีกด้วย ในส่วนของการเดินทางมาเรียนก็เป็นอุปสรรคสำคัญ จำเป็นต้องมีสวัสดิการที่ช่วยเติมค่าเดินทาง หรือสวัสดิการรถรับส่งในชุมชนให้เด็กยากจนมาเรียนได้

 

เราพบว่าเด็กที่สามารถพ้นวิกฤตได้ยั่งยืนซึ่งมีอยู่จำนวน 32 เปอร์เซ็นต์ จากการช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นเพราะมีกลไกในพื้นที่สนับสนุนให้พ่อแม่สามารถมีอาชีพ ลืมตาอ้าปากได้ และมีทางเลือกการศึกษาที่เหมาะกับข้อจำกัดในชีวิตของเด็กและเยาวชนแต่ละคน”

 

ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา เป็นโครงการวิจัยพื้นที่และช่วยเหลือฉุกเฉินเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบบการศึกษาด้วยการเชื่อมโยง บูรณาการทุกหน่วยงานในพื้นที่ โดยความร่วมมือของ กสศ. กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ

 

ทั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งจากเวทีเสวนา ‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเร็วๆ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ