คอลัมนิสต์

เสียเชิง ‘วันนอร์’ ก้าวไกลกลืนเลือด พ่ายเกม ‘ทักษิณ’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กว่าจะรู้เดียงสา เสียเชิง วันนอร์ แกนนำก้าวไกลยอมกลืนเลือด ส่งไม้ต่อเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาล แม้จะรู้ว่าหลงเหลี่ยมใครบางคน

ด้อมส้มถล่ม วันนอร์ แกนนำก้าวไกลเบรก ยอมกลืนเลือด ส่งไม้ต่อเพื่อไทย จัดตั้งรัฐบาลขั้วเดิม แม้จะรู้ว่าเสียรู้ใครบางคน  


20 ปีที่ผ่านมา วันนอร์ มีสัมพันธ์อันล้ำลึกกับ ทักษิณ ไม่แปลกที่เกมสภา มีอะไรประหลาดๆ เกิดขึ้น ขนาดกูรูกฎหมายยังมึน
 

หลังชื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถูกตีตกด้วยมติที่ประชุมรัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา ในฐานะประธานรัฐสภา เจอทัวร์ด้อมส้มชนิดที่คาดไม่ถึง


แกนนำพรรคก้าวไกล พยายามเก็บอาการ ไม่ให้สัมภาษณ์วิจารณ์การทำหน้าที่ประธานสภาของวันนอร์ และในที่ประชุม สส.พรรคก้าวไกล เมื่อ 20 ก.ค. 2566 ได้มี สส.ลุกขึ้นพูดถึงเหตุการณ์ในสภาวันก่อน


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับบทบาทของประธานวันนอร์ว่า คงต้องให้กำลังใจ เพราะมองว่าอีกสักพัก ก็คงจะเข้ารูปเข้ารอย ขออย่าเพิ่งตำหนิกัน ซึ่งตนเองยังมั่นใจในประธานสภา และคิดว่า ไม่ใช่ว่าจะมานั่งจับผิดกัน ไม่เช่นนั้นในอนาคตใครจะกล้ามาเป็นประธานสภา

จริงๆ แล้ว แกนนำพรรคก้าวไกล คงกังขาว่า เหตุใดวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา จึงไม่ใช้ดุลยพินิจส่วนตัววินิจฉัยว่า การเสนอชื่อพิธา ไม่ขัดกับข้อบังคับที่ 41 ไม่ใช่การเสนอชื่อซ้ำ แต่กลับปล่อยให้มีการอภิปราย และลงมติ ฝ่าย สว. และขั้ว 188 จึงชนะไป


อาการยอมกลืนเลือดของแกนนำก้าวไกล น่าจะประเมินสถานการณ์ภาพรวมแล้ว พรรคสีส้มเลือกขอเป็นฝ่ายรัฐบาล และยอมให้พรรคสีแดงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล


นัยว่า อาจมีการลดเงื่อนไขบางอย่าง เพื่อให้คนของเพื่อไทยฝ่าด่าน สว.ไปถึงจุดหมายปลายทางได้

 

บทเรียนราคาแพง
เหตุที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องหมดโอกาสไปต่อในการเสนอชื่อชิงนายกฯ เพราะข้อบังคับการประชุมข้อที่ 41 ที่ห้ามนำญัตติที่มีการเสนอและตกไปแล้ว นำกลับมาเสนอซ้ำอีก 


ปิยบุตร แสงกนกกุล จึงฟื้นฝอยหาตะเข็บด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งว่า “หาก ปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นประธานรัฐสภา วันนี้ ผมมั่นใจว่า เขาจะกล้าใช้อำนาจประธานยืนยันว่า การเสนอชื่อนายกฯ ไม่ใช่ ญัตติ หรือต่อให้ลากไปเป็นญัตติซ้ำ แต่ก็มีข้อยกเว้นในข้อ 41 ตอนท้ายว่า เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เสนอซ้ำได้”


เนื่องจากก่อนหน้านั้น ปิยบุตร ได้ยืนกรานว่า พรรคก้าวไกลต้องได้ประธานสภา และในวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็ให้คำตอบแล้วว่า ถ้าประธานสภาเป็นคนก้าวไกล ชื่อพิธา จะไม่ถูกตีตกอย่างแน่นอน


ไม่แปลกหรอกที่ด้อมส้มจะมองว่า วันนอร์ ไม่ใช่ประธานสภาคนกลาง ดังที่เข้าใจกันตอนที่แกนนำเพื่อไทยและก้าวไกล เจรจาตกลงสงบศึกชิงประมุขนิติบัญญัติ

 

 

นนอร์ ไม่เคยทอดทิ้งทักษิณ นับแต่ยุบพรรคไทยรักไทย

 

ไม่ทิ้งคนแดนไกล
ในกลุ่มวาดะห์ วันนอร์ ไม่เคยทิ้ง ทักษิณ แม้จะพ่ายซ้ำ 3 หนซ้อนก็ยืนสู้ในแบรนด์เดิม ก่อนจะตั้งพรรคประชาชาติ


หลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ยุบพรรคความหวังใหม่ รวมกับพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 วันนอร์ก็สังกัดค่ายทักษิณมาจนถึงไทยรักไทยถูกยุบในปี 2550 


วันนอร์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่ระหว่างอยู่ในบ้านเลขที่ 111 วันนอร์ยังมีบทบาทให้คำแนะนำ สส.กลุ่มวาดะห์ ย้ายจากพรรคไทยรักไทย ไปสังกัดพรรคประชาราช ระยะหนึ่ง ก่อนจะกลับไปร่วมพรรคพลังประชาชน 


ขณะที่อดีต สส.กลุ่มวาดะห์ส่วนใหญ่ ย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคมาตุภูมิ แต่วันนอร์ และน้องชาย ซูการ์โน มะทา ก็ยังอยู่กับทักษิณ


ปี 2561 วันนอร์ ก่อตั้งพรรคประชาชาติ โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งตอนนั้น พรรคประชาชาติ ถูกมองว่าอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ของคนแดนไกล

    

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ