พระเครื่อง

‘ครูบาญาณทิพย์’ตนบุญผู้มีเมตตาแห่งดินแดนสุโขทัย

‘ครูบาญาณทิพย์’ตนบุญผู้มีเมตตาแห่งดินแดนสุโขทัย : เรื่องและภาพ ไตรเทพ ไกรงู

           “ศึกษา ปฏิบัติ พัฒนา” เป็นปรัชญาในการดำเนินศาสนกิจของ “หลวงพ่อพิพัฒน์มงคล” หรือ “ครูบาญาณทิพย์” เจ้าอาวาสวัดพิพัฒน์มงคล เจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม และเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดสุโขทัย

           “พิพัฒน์มงคล แดงลังกา” เป็นชื่อและสกุลเดิมของ “ครูบาญาณทิพย์” เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๐๑ ณ บ้านมะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ทำไร่ทำสวน เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านมะขามหลวง มีใจใฝ่ธรรมตั้งแต่เยาว์วัย มีโอกาสไปวัดทำบุญตักบาตรกับบิดามารดาอยู่เสมอ ไม่เล่นซุกซนเหมือนเด็กชาวบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน ใช้เวลาว่างช่วยงานบ้านไม่เคยขาด ฉลาดหลักแหลมช่างเจรจา เป็นที่รักเมตตาของผู้ได้พบเห็น

           เมื่ออายุ ๑๒ ขวบ บรรพชา ณ วัดมะขามหลวง โดยมีครูบาบุญศรี สีลวิสุทฺโธ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นศึกษานักธรรมชั้นตรี โท เอก อักขระภาษาล้านนา และวิชาพื้นบ้านล้านนาทั่วไป ติดตามอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ปฏิบัติธรรมในที่ต่างๆ อยู่เป็นนิจ ต่อมาได้ย้ายมาศึกษาปฏิบัติธรรมอยู่ที่ จ.ลำพูน

           เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เจ้าแม่บัวผัน ณ ลำพูน พร้อมด้วยญาติมิตรได้ถวายการอุปถัมภ์นำสามเณรพิพัฒน์มงคลเข้าพิธีอุปสมบท ณ อุโบสถวัดพระคงฤษี โดยมีพระราชสุตาจารย์ วัดจามเทวี เจ้าคณะจังหวัดในสมัยนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระพระครูโสภณธีรคุณ ต่อมาเป็นพระเทพญาณเวที เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระครูประสาทสุตานุคม ต่อมาเป็นพระเทพมหาเจติยาจารย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌายอาจารย์ทั้ง ๓ รูปล้วนเป็นพระมหาเถระเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวลำพูน พระพิพัฒน์มงคลได้รับฉายาในพระพุทธศาสนาว่า “คุณยุตฺโต” พระผู้ประกอบด้วยคุณงามความดี ในขณะที่อยู่ จ.ลำพูน มีเจ้าแม่บัวผัน ณ ลำพูน ถวายอุปัฏฐากด้วยดีเสมอ

           ในขณะที่ยังเป็นสามเณรจนถึงขณะอุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้วนั้น ครูบาญาณทิพย์ได้ติดตามครูบาอาจารย์จาริกธุดงค์และธุดงค์ไปด้วยตนเองทั้ง ๔ ภาคของประเทศไทยและในต่างประเทศ เช่น แคว้นสิบสองปันนา ประเทศจีน รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ประเทศพม่า แขวงจำปาสัก ประเทศลาว เขมร อินเดีย และศรีลังกา

           ต่อมาในปี ๒๕๒๖ ในขณะเดินธุดงค์ผ่าน อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เริ่มสร้างวัดขึ้นในสถานที่หัวไร่ปลายนาของชาวบ้านตามนิมิตอาราธนาของเทพารักษ์ ด้วยระยะเวลาเพียง ๒ ปี ก็สำเร็จตั้งเป็นวัดได้ ณ ปัจจุบันเป็นปีที่ ๓๐ ของการเริ่มตั้งวัด

           “ครูบาญาณทิพย์” สร้างและพัฒนาวัดพิพัฒน์มงคลให้เจริญรุ่งเรื่องด้วยเสนาสนถาวรวัตถุ เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมที่หาได้ยากในภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน เจริญด้วยแสงสว่างแห่งธรรม เป็นสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐานประจำจังหวัดที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของสาธุชนทั้งหลาย


คำสอนและวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย


           หลักคำสอนของครูบาญาณทิพย์ที่ท่านเมตตาสั่งสอนคณะศิษยานุศิษย์ที่เข้ากราบนมัสการเป็นหลักธรรมภาษาที่เข้าใจได้ง่าย สามาถนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ แล้วจะเกิดมรรคเกิดผลได้อย่างดี เพราะท่านเน้นเรื่องความกตัญญูซึ่งเป็นธรรมหลักที่มนุษย์ทุกคนจะพึงมี เมื่อมีความกตัญญูแล้วความเห็นแก่ตัว ความละโมบโลภมาก ความเอารัดเอาเปรียบกันในสังคมซึ่งเป็นต้นตอปัญหาทั้งหมดก็จะบรรเทาลดลงและหายไป

           สิ่งสำคัญที่สุดยิ่งกว่าคำสอนของท่านคือท่านเป็นผู้กระทำให้ดูอยู่ให้เห็นในเรื่องของความกตัญญูกตเวทีที่ท่านมีและกระทำตอบแทนต่อทุกคนที่มีส่วนช่วยในการปฏิบัติศาสนกิจของท่านเริ่มตั้งแต่ขณะเป็นสามเณรจนถึงบัดนี้ จึงเป็นที่รักและอยากเข้าหาของบรรดาสานุศิษย์ที่มีอยู่มากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกราบขอพรสั่งสมญาณบารมีและน้อมรับหลักคำสอนของท่านไปดำเนินชีวิต จึงเป็นที่รู้ทั่วกันว่าผู้ที่เข้าใกล้สนทนากับท่านนั้น ทุกคนไม่เคยกลับบ้านไปแบบมือเปล่า ย่อมได้รับวัตถุมงคล ของอุปโภคบริโภค และไม่เคยได้กลับไปด้วยใจเปล่า ย่อมได้รับหลักคำสอนในการดำเนินชีวิตและรับกำลังใจจากครูบา จึงรู้สึกมีพลังปลื้มปีติอบอุ่นอย่างยิ่ง

           วัตรปฏิปทาประจำวันของครูบาญาณทิพย์เป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่หรูหรา บริเวณวัดสะอาดสงบ เสนาสนะที่จัดสร้างขึ้นดูเรียบร้อย สวยงาม งบประหยัดและได้ประโยชน์ ผู้ที่เข้ากราบนมัสการท่านทุกวันนี้มีทุกเพศทุกวัยทุกชนชั้นวรรณะ ตั้งแต่ประชาชนทั่วไป พ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร อธิบดี จนถึงรัฐมนตรี เมื่อมาพบท่านล้วนนั่งกับพื้นเท่ากันหมด เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าท่านเมตตาต่อทุกๆ คนเสมอไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง และสิ่งสำคัญท่านจะแนะนำให้ทุกคนหมั่นบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนาไม่ให้ขาด

           อย่างไรก็ตามในวันอังคารที่ ๒๙ กันยายนนี้ ในโอกาสอันเป็นอุดมมงคลยิ่งที่ “ครูบาญาณทิพย์” จะมีสิริอายุครบ ๕๗ ปี ๓๗ พรรษา ดังนั้นจึงขอเชิญชวนสาธุชนผู้ที่เคารพศรัทธาในวัตรปฏิปทาของหลวงพ่อครูบาได้ร่วมกันแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ถวายมุทิตาสักการบูชาอาจาริยคุณสั่งสมบุญบำเพ็ญบารมีร่วมกับท่านโดยพร้อมเพรียงกัน

นโยบายในการบริหารจัดการวัด

           “เจ้าอาวาส หรือเจ้าสำนักที่พักสงฆ์ จำต้องมีสภาวะเป็นผู้นำที่สูงส่ง เสียสละเป็นเบื้องต้น วัดจึงจะพัฒนาไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว เจ้าอาวาส หรือเจ้าสำนักที่พักสงฆ์ จะต้องเป็นพระของชาวบ้านจริงๆ เป็นที่พึ่งพิงทั้งในทางโลกและทางธรรม เป็นผู้นำจิตวิญญาณ เข้ากับชาวบ้านได้ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างวัดกับบ้านได้ สร้างศรัทธาให้ชาวบ้าน เพราะถ้าหากชาวบ้านเกิดศรัทธาแล้วจะทำสิ่งใดก็จะง่ายขึ้น”

           ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นนโยบายในการบริหารจัดการวัดในฐานะเจ้าคณะอำเภอของ “ครูบาญาณทิพย์”

           ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาตมาได้สร้าง พัฒนาวัด รวมทั้งจัดฝึกอบรมปฏิบัติธรรมให้ญาติโยมเรื่อยมาจนได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย เมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอจึงมีความคิดว่าทำอย่างไรให้วัดต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การปกครองยึดหลักการปฏิบัติตาม อาตมาจึงเขียนวิสัยทัศน์ออกมาแจกจ่ายให้พุทธศาสนิกชนและพระที่อยู่ใต้ปกครอง

           เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็เรียกปกระชุมแจกแจงนโยบาย จากนั้นก็ออกไปเยี่ยมเยียนวัดต่างๆ ซึ่งได้ตั้งเป้าว่าภายใน ๓ เดือน ต้องไปให้ครบทุกวัด โดยไปมอบนโยบายพร้อมทั้งคำชี้แนะเรื่องการปรับปรุงพัฒนาวัดเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง

           โดยเฉพาะนโยบายจัดให้มีการส่งเสริมพัฒนาบริเวณวัด จัดสวนหย่อม พัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสม เป็นที่เจริญศรัทธาต่อผู้เข้ามาทำบุญ ทั้งนี้ ต้องทำโครงการมายังอาตมาเพื่อสนับสนุนในการพัฒนาและมีการประกวดมอบรางวัล เพื่อเป็นกำลังใจสำหรับวัดที่พัฒนาสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย

           “วัดต้องสะอาด สวยงาม และร่มรื่น ส่วนพระต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก่อนที่จะเป็นผู้รับต้องเป็นผู้ให้ก่อน เมื่อญาติโยมเข้ามาหาพระแสดงว่าเขาต้องการพระเป็นที่พึ่ง พระก็ควรเป็นที่พึ่งจริงๆ คือให้ธรรมะและให้กำลังใจ มีเมตตาจิต เมตตาธรรมกับทุกคนที่เข้ามาหา” นี่เป็นสิ่งที่ “ครูบาญาณทิพย์” อยากให้เกิดและให้มีทุกวัด


‘ครูบาญาณทิพย์’ตนบุญผู้มีเมตตาแห่งดินแดนสุโขทัย

ข่าวยอดนิยม