ไลฟ์สไตล์

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วัดคู่บ้านคู่เมืองลับแล จ.อุตรดิตถ์

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ชาวบ้านเรียกชื่อวัดนี้ไปต่างๆ กัน คือ วัดหน้าพระธาตุ วัดบรมธาตุ วัดทุ่งยั้ง วัดชัยบุรี วัดชัยปราการ วัดกัมโพชนคร วัดอุตรคามนคร

   สำหรับชื่อ “วัดกัมโพชนคร” เนื่องจากปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อเมืองทุ่งยั้งในพงศาวดารเหนือว่า “กัมโพชนคร” ชาวบ้านแถบนั้นคงจะนำชื่อนี้มาเรียกวัดสำคัญประจำเมืองด้วยเช่นกัน

 ถึงแม้ว่า วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จะไม่มีหลักฐานการสร้างที่ชัดเจน แต่ก็ได้มีตำนานการสร้างวัดเขียนขึ้นอย่างมากมาย เช่น ตำนานที่คัดลอกมาจากหนังสือที่ พระสมุห์กอ ญาณวีโร รวบรวมไว้เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ความว่า

 “กิร ดังได้ยินมาว่า พระกุกกุสันโธ เสด็จอยู่ในภูเขาซอกนอกเมืองทุ่งยั้ง พระพุทธเจ้าก็ทรงยกพระหัตถ์ลูบพระเศียรเกล้า พระเกศหล่นลงเส้นหนึ่ง และพระองค์ก็ทรงยื่นให้พระอรหันต์ พระอรหันต์ก็ยื่นให้พระยาอโสกราช พระยาอโสกราชก็บรรจุไว้ในถ้ำทุ่งยั้งนี้แล แล้วพระพุทธเจ้าก็พระพุทธฎีกาตรัสเทศนาพยากรณ์ทำนายไว้ในเบื้องหน้าว่า เมื่อตถาคตนิพพานล่วงลับไปแล้ว ถึงศาสนาโคดม ศาสนาพระพุทธกัสสปะ ศาสนาพระศรีอริยเมตไตย ก็จะมีกษัตริย์องค์หนึ่งนำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในสถานที่นี้ทุกๆ พระองค์ ในศาสนาของเรานี้แล"

 สมัยรัตนโกสินทร์ พญาตะก่า เป็นพ่อค้าไม้ชาวพม่ามีศรัทธาแรงกล้าขออนุญาตทำการบูรณะพระมหาธาตุเจดีย์ ได้นำฉัตรมาติดยอดพระบรมธาตุเจดีย์ทุ่งยั้ง และสร้างเจดีย์องค์เล็กที่ฐานชั้นล่างทั้ง ๔ มุม และสันนิษฐานว่าการซ่อมของพญาตะก่าครั้งนี้ คงจะซ่อมประมาณเดือน เสร็จก่อนเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๔๔ เนื่องจากปรากฏหลักฐานโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงบันทึกในพระนิพนธ์จดหมายระยะทางไปพิษณุโลก เกี่ยวกับวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๔๔ ไว้ส่วนหนึ่งดังนี้

 “หลังพระวิหารมีพระธาตุ สูงเห็นจะเกือบ ๒๐ วา เป็นรูปเจดีย์พม่าใหม่อลองฉ่อง พระสีหสงครามว่า พระธาตุเดิมเล็ก นี่เขาทำบวกเข้าใหม่เมื่อสองเดือนนี้ ช่างพม่ารับจ้างทำอย่างพม่า พร้อมทั้งประตูกำแพงแก้วด้วย รูปร่างทำใหม่ก็ดีอยู่”

 และเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ทำให้ยอดพระบรมธาตุเจดีย์หักพังลงมา ต่อมา หลวงพ่อแก้ว สมภารวัดพระบรมธาตุในขณะนั้น ได้เป็นหัวหน้าปฏิสังขรณ์ซ่อมเพิ่มเติม ดังรูปแบบที่ปรากฏในปัจจุบัน 

 พระมหาธาตุเจดีย์ (ทุ่งยั้ง) สันนิฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๙๐๒ เป็นมหาเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา ซึ่งนิยมสร้างกันในสมัยกรุงสุโขทัย สูงประมาณ ๑ เส้น ฐานเป็นสี่เหลี่มจตุรัส ทำด้วยศิลาแลง ก่อซ้อนกัน ๓ ชั้น กว้าง ๑๐ วา ๓ ศอก

 มีเจดีย์บริวารขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทั้ง ๔ ทิศ ที่ฐานชั้นที่ ๓ มี ซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปทั้ง ๔ ด้าน แต่เจ้าอาวาสเกรางว่าจะถูกโจรกรรม จึงอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในวิหาร และกุฏิพระสงสงฆ์

 อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายท่องเที่ยวช่วยชาติ นายชัยธวัช ฟักอังกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้จัดโครงการ "เปิดฟ้าการท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ปี ๒๕๕๒" ทั้งนี้ร่วมกับนายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย นายทรงศักดิ์ ศรีเคลือบ เชิญสื่อมวลชนทุกสาขามาเพียบ พร้อมนำชมและป้อนข้อมูลละเอียดยิบ ตั้งแต่การท่องทะเลสาบเหนือเขื่อนสิริกิติ์ อุทยานแห่งชาติ ชมสวนโบราณลอยฟ้าที่ลับแล วิถีชีวิตชาวลาวบ้านแก่ง และวัดสำคัญๆ ที่มีความสวยงาม โดดเด่น และเป็นพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง เช่น วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง วัดพระแท่นศิลาอาสน์ และวัดพระฝางซึ่งประดิษฐานพระประธานทรงเครื่องที่สวยที่สุดในประเทศไทย
 
 ใครอยากไปเที่ยว สอบถาม้อมมูลได้ที่ ประชาสัมพันธ์ จ.อุตรดิตถ์ โทร.๐-๕๕๔๑-๒๗๒๙ และ สำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์ (หน้าห้องผู้ว่าฯ) โทร.๐-๕๕๔๑-๑๐๐๓ หรือ www.uttaradit.go.th <http://www.uttaradit.go.th> และ www.thongthailand.com


ต้นสักใหญ่ที่สุดในโลก
 วนอุทยานต้นสักใหญ่ อยู่ที่หมู่ ๔ บ้านปางเกลือ ตำบลน้ำไคร้ ลักษณะเป็นป่าเบญจพรรณ มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทาง ๒ กิโลเมตร

 ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ นายเวทย์ นิจถาวร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เสนอตั้งเป็นวนอุทยานแห่งชาติสักใหญ่ เดิมมีพื้นที่เพียง ๑,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบันขยายพื้นที่เป็น ๒๒,๐๐๐ ไร่ ภายในมีต้นสักใหญ่ อายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปี มีความยาวรอบต้น ๑,๐๐๗ เซนติเมตร วัดเมื่อ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๓ ความสูงสุดยอด ๔๗ เมตร แต่ต่อมาพายุพัดหักเหลือเพียง ๓๘.๕๕ เมตร 

 แม้ส่วนยอดถูกพายุพัดหัก ลำต้นส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในสภาพเดิม โดยได้รับการดูแลรักษาให้มีความแข็งแรงสมบูรณ์ ในวนอุทยานต้นสักใหญ่ยังมี

 ถ้าถามว่า ทำไมสักใหญ่ต้นนี้จึงรอดคมเลื่อยมาได้ ต้องตอบว่าอาจจะเพราะว่าต้นไม้ใหญ่ๆ มักจะมีผีสางนางไม้สิงสถิตอยู่ก็ได้ จึงมีคนเกรงขามอำนาจลึกลับ ที่ไม่เชื่ออย่าลบหลู่

 แต่ถ้าตอบอย่างวิทยาศาสตร์ ต้องบอกว่าเพราะว่าสักใหญ่ต้นนี้มันเป็นโพรง ไม่มีเนื้อไม้อยู่ภายใน จึงทำเป็นสินค้าไม่ได้ บริษัทอีสเอเชียติก จำกัด ผู้รับสัมปทานทำไม้สักป่านี้ ก็เลยเว้นไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๐ 

เรื่อง... " ไตรเทพ ไกรงู"
ภาพ... "ธงชัย เปาอินทร์"

 

ข่าวยอดนิยม