ไลฟ์สไตล์

ดูกาแฟพันธุ์ดี ที่สถานีวิจัย 'ภูทับเบิก'

ท่องโลกเกษตร : ดูกาแฟพันธุ์ดี ที่สถานีวิจัย 'ภูทับเบิก' แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรครบวงจร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 
                              หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ภายใต้คำกล่าวที่ว่า “นอนทับเบิก สัมผัสความหนาว ดูดาวบนดิน” ที่นักท่องเที่ยวสนใจแห่ขึ้นไปชมธรรมชาติและสัมผัสไอหนาวมากที่สุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ก็คือ ภูทับเบิก ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของ จ.เพชรบูรณ์ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,768 ที่เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้ไม่นานนัก แต่ก็สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ที่ไปเยือน ด้วยอุณหภูมิที่หนาวเย็นทั้งปีบนยอดภู และไร่กะหล่ำปลี ที่กว้างใหญ่สุดลูกตา 
 
                              ภูทับเบิก เป็นชื่อของหมู่บ้านม้งทับเบิก ตั้งอยู่ใน ต.วังบาล อ.หล่มเก่า มีจุดเด่นคือ สามารถชมวิวได้รอบทิศ 360 องศา นอกจากการสัมผัสความงามของธรรมชาติและไอหมอกหน้าหนาวและภูทับเบิกยังมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่น่าสนใจ นั่นก็คือสถานีวิจัยเพชรบูรณ์ (แปลงทดลองภูทับเบิก) ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นสถานีสาธิตปลูกพืชเกษตรเมืองหนาว เช่น สตรอเบอร์รี่ สาลี่ พลัม ท้อ และจำหน่ายผลผลิตสดๆ ที่แปลง ตามฤดูกาล ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดชมวิวภูทับเบิกมากนัก  
 
                              ทีม "ท่องโลกเกษตร" มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสถานีวิจัยแปลงทดลองภูทับเบิกระหว่างภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์ คณะเกษตร ภายใต้การนำของหัวหน้าภาค "รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ" และคณะนำนิสิตปี 4 สาขาส่งเสริมการเกษตรฯ กว่า 30 ชีวิตลงพื้นที่ถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตสื่อวีดิทัศน์แก่นักเรียนระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนทับเบิกร่วมใจ ตามโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวในหมู่บ้านของตัวเองให้คนภายนอกได้รู้จักมากขึ้น 
 
                              ระหว่างที่ อ.ณัฐ สมนคุปต์ และนิสิต ฝึกอบรมเด็กนักเรียนอยู่นั้น ผมกับ รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ หัวหน้าภาควิชาและดร.ธานินทร์ คงศิลา กรรมการสภามหาวิทยาลัยก็เจียดเวลาลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าของสถานีวิจัยแปลงทดลองภูทับเบิก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากโรงเรียนภูทับเบิกร่วมใจไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีถึงสามแยกปากทางเข้าสถานี ซึ่งเป็นถนนลูกรังแคบๆ อยู่ระหว่างการทำเส้นทางใหม่  
 
                              บนพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เต็มไปด้วยไม้ผลและพืชผักที่ทางสถานีนำมาปลูก ประกอบด้วยกาแฟพันธุ์อาราบิก้า พลับ ท้อ มะคาเดเมีย และพืชผักอย่างคะน้าและกะหล่ำปลี ที่ปลูกสลับกันไปตามไหล่เขา โดยมีลำธารไหลผ่าน และบางส่วนก็ให้ชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายอาศัยอยู่บริเวณรอบสถานีมาใช้พื้นที่เพาะปลูกโดยแบ่งรายได้กับสถานีและยังทำหน้าที่ดูแลแปลงทดลองของสถานีด้วย  
 
                              จากนั้นก็ได้พูดคุยกับ ช่าย แซ่สง เจ้าหน้าที่ของสถานี โดยเขายอมรับว่าเจ้าหน้าที่มีน้อยแค่ 2 คน ต้องรับผิดชอบพื้นที่กว่า 200 ไร่ จึงจำเป็นต้องอาศัยชาวบ้านในเครือข่ายมาช่วยดูแลเพิ่ม แต่ด้วยงบประมาณที่มีจำกัด จึงได้จัดพื้นที่บางส่วนของสถานีให้เขาปลูกพืชผักเพื่อเป็นรายได้แทนการจ่ายค่าจ้าง 
 
                              "ที่นี่จะมีกาแฟเยอะที่สุด ประมาณ 60 ไร่ เป็นพันธุ์อาราบิก้า รองลงมาเป็นพลับหวานมีประมาณ 200 ต้น นอกนั้นก็มะคาเดเมีย และพืชผัก เช่น คะน้า ผักกาด กะหล่ำปลี เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะจ้างชาวบ้านในพื้นที่มาช่วย บางรายก็มากันทั้งครอบครัว พ่อแม่ลูก โดยเมล็ดกาแฟที่เก็บได้จะนำไปแปรรูปที่สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ตั้งอยู่ที่เข็กน้อย เขาค้อ" เจ้าหน้าที่คนเดิมเผย 
 
                              ด้าน รศ.ดร.พิชัย ทองดีเลิศ เผยภายหลังลงพื้นที่เก็บข้อมูลและสอบถามความเห็นของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่ภูทับเบิกเร็วๆ นี้ พบว่า ชาวบ้านบางส่วนเริ่มหันมาปลูกกาแฟกันมากขึ้น เนื่องจากขายได้ราคาดีมีตลาดรองรับชัดเจน ในขณะที่กะหล่ำปลีที่ปลูกเป็นอาชีพหลักมานาน เริ่มมีปัญหาเรื่องการตลาดและการใช้สารเคมี ทำให้มีต้นทุนที่สูงและส่งผลกระทบต่อสุขภาพด้วย
 
                              "โดยเฉพาะผู้นำชุมชนได้เปลี่ยนจากกะหล่ำปลีมาปลูกกาแฟระยะหนึ่งแล้วปรากฏว่าได้ผลดีมาก มีบริษัทมารับซื้อผลผลิตถึงที่และขายได้ราคาดีด้วย ทำให้ตอนนี้ชาวบ้านเริ่มหันมามองที่ตัวกาแฟแทนกะหล่ำปลี ซึ่งก็เป็นโอกาสดีของสถานีวิจัยในการเข้าไปส่งเสริมช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่ององค์ความรู้ตรงนี้" รศ.ดร.พิชัยกล่าวและย้ำว่า
 
                              กาแฟอาราบิก้าภูทับเบิกเป็นที่รับรู้กันดีในหมู่นักดื่มกาแฟมานานแล้วในเรื่องรสชาติความหอมอร่อย เนื่องจากด้วยสภาพพื้นที่ปลูกและภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับสายพันธุ์อาราบิก้าเพียงแต่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักเหมือนที่ปลูกกันทางภาคเหนือเท่านั้น ซึ่งหากมีการส่งเสริมปลูกอย่างจริงจังด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้อง ในอนาคตก็จะเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชาวบ้านบนภูทับเบิก 
 
                              ขณะที่ ดร.ธานินทร์ คงศิลา กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มองว่า สถานีวิจัยแปลงทดลองภูทับเบิก นอกจากมีจุดเด่นในเรื่องแหล่งรวมองค์ความรู้ด้านเกษตรแล้ว ด้วยสภาพพื้นที่และภูมิอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปียังสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยอาจจะสร้างบ้านพักสไตล์รีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพื่อหารายได้เข้าสถานี 
 
                              "ส่วนตัวมองว่าน่าจะให้เอกชนเข้ามาดำเนินการในส่วนนี้ เพราะเขาจะถนัดมากกว่า ส่วนมหาวิทยาลัยก็มีรายได้จากการสัมปทานไป แต่ก็ต้องมีข้อตกลงรายละเอียดอื่นๆ อย่างเช่นสามารถใช้เป็นแหล่งฝึกงานของนักศึกษาด้วยหรือชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาใช้สถานที่ทำกิจกรรมได้อย่างนี้เป็นต้น" ดร.ธานินทร์ให้ความเห็น
 
                              สถานีวิจัยเพชรบูรณ์ (แปลงทดลองภูทับเบิก) อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ นับเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่น่าสนใจ เพราะไม่ใช่แค่แหล่งรวมองค์ความรู้พืชเมืองหนาวเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งรวมความงามทางธรรมชาติที่รอทุกคนไปสัมผัส
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : ดูกาแฟพันธุ์ดี ที่สถานีวิจัย 'ภูทับเบิก' แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรครบวงจร : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)
 
 
 
 
 
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม