Lifestyle

นั่งเฉยๆ แต่หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยง! "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ"

นั่งเฉยๆ แต่หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยง! "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ" ภัยเงียบที่อันตรายกว่าที่คิด รีบพบแพทย์-รักษาให้ไว ก่อนหัวใจล้มเหลว

“หัวใจ” เป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทุกส่วนให้ทำงานได้อย่างราบรื่น แต่หัวใจที่เต้นอยู่ทุก ๆ วัน ในบางครั้งอาจมีวันที่เต้นผิดปกติ ไม่ว่าจะเต้นเร็วหรือช้าเกินไป หรือเต้นไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาการเหล่านี้สังเกตได้ยากจากภายนอก บางคนกว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนที่รู้สึกอ่อนเพลียและใจสั่น หรือเจ็บแน่นหน้าอก หรือบางทีก็ถึงขั้นหน้ามืดเป็นลมไป ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของ "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ" ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ไม่เต็มที่ และหากปล่อยไว้นาน อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนมากมาย 

 

นั่งเฉยๆ แต่หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยง! \"โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ\"

ทางดาน นายแพทย์ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อายุรแพทย์ผู้ชำนาญการโรคหัวใจ ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด รพ.วิมุต จะมาอธิบายถึงลักษณะของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ พร้อมบอกแนวทางป้องกันและรักษา เพื่อให้ทุกคนได้รู้ทันโรคและรับมือได้ทันท่วงที

 

ายแพทย์ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ

 

 

"โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ"ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติสุดอันตราย

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac Arrhythmia) เกิดจากความผิดปกติของจุดกำเนิดกระแสไฟฟ้าในหัวใจ หรือกระแสไฟฟ้าในหัวใจวิ่งลัดวงจร อาจทำให้ทั้งหัวใจเต้นเร็วหรือช้าเกินไปกว่าปกติ หัวใจเต้นช้าสลับเร็ว รวมถึงมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจเต้นแทรกขึ้นมาเป็นครั้งคราว ส่งผลให้หัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ เกิดการไหลเวียนของเลือดไม่ปกติ โดยลักษณะทั่วไปของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถแบ่งได้ 3 แบบ ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร หรือเต้นช้ามากกว่าปกติ จนวิงเวียนหรือถึงกับจะเป็นลม  หัวใจเต้นแรงขึ้นจนรู้สึกใจสั่นหรือเต้นสะดุด และสุดท้ายคือหัวใจเต้นระรัว จนรู้สึกไม่สม่ำเสมอ นพ.ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ กล่าวเสริมว่า "หัวใจเต้นช้ามากกว่าปกติ ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่เกิดขึ้นได้ แต่พบได้น้อยกว่า เพราะมักเกิดในผู้สูงอายุ โดยไม่ว่าจะเต้นเร็วและเต้นช้ากว่าปกติก็ถือว่าอันตราย เพราะในระยะยาวอาจเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหัวใจล้มเหลวทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองตีบ และเพิ่มโอกาสในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ"

 

 

นั่งเฉยๆ แต่หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยง! \"โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ\"

 

รวมปัจจัยและสัญญาณเสี่ยง "โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ"

ปัจจัยเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ภาวะเครียดสะสม พักผ่อนน้อย ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม และผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ก็เสี่ยงต่อโรคนี้มากกว่าคนปกติ นอกจากนี้ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดกับผู้ที่มีหัวใจพิการแต่กำเนิดหรือโรคหัวใจทางพันธุกรรม ที่ส่งผลให้มีการนำไฟฟ้าผิดปกติหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ "ปกติคนที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย เวียนหัวตาลาย  รวมถึงเจ็บแน่นหน้าอก หรือบางคนก็ถึงขั้นหน้ามืดเป็นลม ซึ่งใครที่มีอาการเหล่านี้ก็ถือว่าอาจเข้าข่ายโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนะนำให้เข้ามาตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อหาความผิดปกติ แพทย์จะได้รู้ตำแหน่งของการเต้นที่ผิดจังหวะอย่างชัดเจนและหาแนวทางการรักษาได้อย่างถูกต้อง" นพ.ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อธิบาย

 

 

นั่งเฉยๆ แต่หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยง! \"โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ\"

 

"โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ" อันตรายที่ป้องกัน-รักษาได้

การป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำได้โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน คือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ หรือการพักผ่อนน้อย ทั้งนี้ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคได้ ส่วนผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะรักษาตามอาการและชนิดของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในแต่ละคน ซึ่งการตรวจวินิจฉัย มีหลายวิธี ตั้งแต่การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก, เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง,  อัลตราซาวนด์หัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง, เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะมีอาการแบบ 7 หรือ 14 วัน, การตรวจสมรรถภาพหัวใจ และการทดสอบภาวะการเป็นลมหมดสติด้วยเตียงปรับระดับ นพ.ศรัณย์พงศ์ ภิบาลญาติ อธิบายต่อว่า "เมื่อทราบรายละเอียดของโรค แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาให้เหมาะกับแต่ละคน มีตั้งแต่การใช้ยาเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจที่เร็วมากเกินไป และการใช้กระแสไฟฟ้าหรือคลื่นวิทยุเพื่อปรับการเต้นของหัวใจให้ปกติ รวมถึงการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ กรณีหัวใจเต้นช้าเกินไป"

"ใครที่มีอาการเข้าข่ายภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แนะนำให้มาตรวจกับแพทย์อย่างละเอียด เพราะอาการของผู้ป่วยโรคนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคน จะได้หาแนวทางการรักษาได้ถูกต้อง แม้ว่าโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจเป็นภัยเงียบ แต่เราลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วยการดูตัวเองให้แข็งแรง นอนให้พอ และกินให้ครบห้าหมู่ หัวใจเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญต่อร่างกาย ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนดูแลหัวใจของตัวเองให้ดี ร่างกายของเราจะได้แข็งแรงอยู่เสมอ" นพ.ศรัณย์พงศ์
ภิบาลญาติ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

นั่งเฉยๆ แต่หัวใจเต้นเร็ว เสี่ยง! \"โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ\"

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ