"สว.สมชาย" เสนอนายกฯ 5 ข้อ "แก้เชือกทีละปม ดับไฟทีละกอง" พาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง
"สว.สมชาย" เสนอนายกฯ 5 ข้อ "แก้เชือกทีละปม ดับไฟทีละกอง" พาสังคมไทยออกจากความขัดแย้ง ชี้ไทยติดกับดักมานาน ต้องเปิดใจรับฟังกันและกันแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างเดินปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและรอบด้านไปด้วยกัน
26 ก.ค.63 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) และประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
#แก้เชือกทีละปมดับไฟทีละกอง
ขอเสนอแนวทางไปยังนายกรัฐมนตรีและทุกภาคส่วน
เพื่อช่วยกันพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งที่ส่อเค้าวิกฤติรุนแรงดังนี้
1)กรณีอัยการไม่ฟ้องคดีบอสกระทิงแดงและไม่อุทธรณ์คดีโอ้คกรุงไทย
สั่นสะเทือนกระบวนการยุติธรรมอย่างต่อเนื่อง
อย่าปล่อยให้เกิดการสร้างข่าวบิดเบือนและนำไปปลุกระดมม็อบโหน
กระแสจนอาจบานปลาย
เพราะความไม่พอใจในทั้ง2คดีนั้น ไม่ได้เกิดเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา หากแต่เกิดความสงสัยและไม่พอใจนั้นเกิดขึ้นถ้วนทั่วทุกสีทุกฝ่าย
นายกรัฐมนตรีต้องสั่งสอบข้อเท็จจริงทั้ง2คดี
เรื่องใดต้องแก้ไขในเชิงบริหารให้รีบแก้
เรื่องใดต้องแก้ไขด้วยกฎหมายต้องรีบทำ
และต้องสั่งการเร่งคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
เข้ารับดำเนินการอย่างจริงจังทันที
และแถลงให้ประชาชนทราบผลความคืบหน้าเป็นระยะๆ
2)เรื่องการชุมนุมเรียกร้องของนิสิตนักศึกษาในเวลานี้นั้น
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีควรเป็นเจ้าภาพ”รวมพลังสร้างชาติ”เอง
ด้วยการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากนิสิตนักศึกษา
โดยให้ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นผู้ร่วมจัดประชุมอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย ร่วมกับนายกองค์การฯและประธานสภานิสิตนักศึกษาฝ่ายละ1คนเข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นเสนอทางออกประเทศอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสร้างช่องทางให้นิสิตนักศึกษาได้นำเสนออย่างเป็นกิจจะลักษณะ และมีวุฒิภาวะ
อันเป็นการสร้างเสริมอนาคตเยาวชนไทยที่มีภาวะผู้นำในระบอบประชาธิปไตย และเปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองในอนาคตไปด้วยในตัว.
เรื่องนี้ขอเสนอให้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์ ให้คนไทยทั้ง69ล้านคนได้รับทราบไปพร้อมๆกันด้วย
3) ฝ่ายการเมืองในสภาต้องยุติการฉวยโอกาสทางการเมืองแต่ต้องดำรงตนให้เป็นที่พึ่งของคนในชาติ
คณะกรรมาธิการศึกษารัฐธรรมนูญฯและคณะกรรมาธิการวิสามัญรับฟังความเห็นฯ. ของสภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมธิการที่เกี่ยวข้องของวุฒิสภา ต้องเป็นที่หลักในการเปิดอีกเวทีรับฟังความคิดเห็นในข้อเสนออย่างต้องมีเหตุมีผลในข้อเรียกร้องให้ยุบสภาหรือข้อเรียกร้องให้ร่างหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีประเด็นใดบ้างที่ต้องพิจารณา
4)เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีการคุกคามต่อขบวนการนิสิตนักศึกษาที่จัดชุมนุมทางการเมืองจริงหรือไม่
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานความมั่นคงและคณะกรรมาธิการด้านสิทธมนุษยชนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ควรรับผิดชอบตรวจสอบในข้อเรียกร้องที่นิสิตนักศึกษาแจ้งว่าให้หยุดคุกคามนั้น ถูกคุกคามจากใครที่ไหนเมื่อใดอย่างไร หากพบว่ามีความจริงต้องเร่งแก้ไขเร่งสร้างความเข้าใจและต้องดำเนินการเอาผิดต่อผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย
5)สังคมไทยต้องร่วมปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบทั้งการใช้กำลังคนและอาวุธ รวมถึงการปฏิเสธการโจมตีโดยใช้วาทกรรมต่อสถาบันพระมหากษัตริย์จากผู้เข้าร่วมการชุมนุมและผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในทุกกรณี
ประเทศไทยติดกับดักความขัดแย้งมานานมากแล้วหากเราจะรวมพลังสร้างชาติต้องดำเนินการเปิดใจรับฟังกันและกันแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างเดินปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและรอบด้านไปด้วยกันดีกว่าครับ
ด้วยจิตคารวะ
สมชาย แสวงการ
สมาชิกวุฒิสภา
ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ
และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
26 กรกฎาคม 2563