ข่าว

CIB ทลายแก๊ง 'หลอกลงทุน' หุ้นทองคำ-น้ำมัน พบเงินหมุนเวียนกว่า 16,000 ล้านบาท

CIB ทลายแก๊ง 'หลอกลงทุน' หุ้นทองคำ-น้ำมัน พบเงินหมุนเวียนกว่า 16,000 ล้านบาท

05 ก.พ. 2567

ตำรวจสอบสวนกลาง CIB ทลายเครือข่าย "หลอกลงทุน" เทรดหุ้นทอง-น้ำมัน รวบ 7 ผู้ต้่องหาคนไทย ตุ๋นเหยื่อโอนเงิน พบเงินหมุนเวียนกว่า 16,000 ล้านบาท ประสานล่าผู้ต้องหาต่างชาติ อีก 9 ราย

5 ก.พ. 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. , พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผบก.ปอท, เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม นำโดย พ.ต.ท.นิธิ ตรีสุวรรณ รอง ผกก.2 บก.ปอท. ร่วมกันจับผู้ต้องหาตามหมายจับ 7 ราย ประกอบด้วย 

 

1.  นายภัทรกษิณ      อายุ 22 ปี 

2. นายปรัชญา          อายุ 23 ปี 

3. นายภาณุวัฒน์       อายุ 30 ปี

4. นายวินัย               อายุ 53 ปี 

5. นายเจนณรงค์       อายุ 31 ปี 

6. น.ส.จิราพัชร         อายุ 20 ปี 

7. นายธงชัย             อายุ 28 ปี 
 

ทั้งหมดถูกแจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดฐาน "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามซาติ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ และร่วมกันฟอกเงิน"
 

CIB ทลายแก๊ง หลอกลงทุน หุ้นทองคำ-น้ำมัน พบเงินหมุนเวียนกว่า 16,000 ล้านบาท

 

 

สืบเนื่องจากเมื่อประมาณเดือน ก.ค. 2566 มีผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์กับ พนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. ว่ามีกลุ่มคนร้ายสร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอม นำภาพของบุคคลอื่น ที่มีฐานะดีและมีความน่าเชื่อถือ ทักแชทมาพูดคุย จากนั้นได้มีการสร้างความสนิทสนม และได้แชทคุยกันต่อระยะหนึ่ง จนเกิดความไว้วางใจ คนร้ายจึงได้ชักชวนลงทุน เทรดหุ้นทองคำและหุ้นน้ำมัน ผ่านแอปชื่อ "AVATRADE" ซึ่งจากตรวจสอบพบว่าเป็นแอปฯปลอม ที่ทำเลียนแบบแอปฯจริงทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงโอนเงินไปลงทุน 

 

โดยในช่วงแรกได้ผลตอบแทนจริงตามคำกล่าวอ้าง ทำรายการเบิกถอนเงินได้ปกติ จนกระทั่งผู้เสียหายเริ่มลงทุนในจำนวนมากขึ้น และต้องการถอนเงิน แต่ไม่สามารถถอนเงินได้ โดยคนร้ายอ้างว่ายอดเงินของผู้เสียหายมีจำนวนมาก จะต้องมีการชำระภาษีก่อนถึงจะทำรายการถอนเงินได้ ผู้เสียหายจึงเชื่อว่าถูกหลอกลวง

 

จากการตรวจสอบเพิ่มเติมจากระบบ รับแจ้งความออนไลน์ พบมีผู้เสียหายถูกหลอกลวงให้ทำการลงทุนผ่านแอปฯ AVATRADE ทั้งหมด จำนวน 23 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 14 ล้านบาท


จากการสืบสวนเส้นทางการเงิน พบว่ากลุ่มคนร้ายได้ใช้บัญชีม้าในการรับโอนเงินของผู้เสียหายและมีการยักย้ายถ่ายเทเงินที่ได้จากการกระทำความผิดไปยังบัญชีธนาคารบัญชีม้าอื่นๆ อีกหลายทอด จากนั้นได้ทำการแปลงสภาพเงินได้จากการหลอกลวงให้กลายเป็นเงินดิจิทัลสกุล USDT ผ่านแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน เหรียญดิจิทัล จากนั้นเงินดิจิทัลจะถูกโอนต่อไปอีกหลายทอดไปยังกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง จากการสืบสวนพบว่ากลุ่มคนร้ายเป็นขบวนการที่มีฐานปฏิบัติอยู่ที่ สปป.ลาว มีการแยกหน้าที่กันทำชัดเจน 

โดย เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.ปอท. จึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายจับกลุ่มผู้ต้องหา จำนวน 18 ราย ดังนี้

1.กลุ่มบัญชีม้า (คนไทย) จำนวน 8 ราย

2. กลุ่มจัดหาบัญชีม้าและฟอกเงิน จำนวน 5 ราย (คนไทย 2 ราย, มาเลเซีย 1 ราย และจีน 2 ราย)

3. กลุ่มผู้สั่งการหรือนายทุน (คนจีน) จำนวน 5 ราย


ต่อมาเมื่อวันที่ 30-31 ม.ค. 2567 เจ้าหน้าที่บูรณาการกำลังร่วมกันตรวจค้นจับกุม กลุ่มผู้ร่วมขบวนการการกระทำความผิดดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 10 จุด โดยแบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพฯ 2 จุด, ภูเก็ต 6 จุด,เชียงราย 1 จุด และหนองบัวลำ 1 จุด สามารถจับกุม ผู้ต้องหาได้ จำนวน 7 ราย เป็นกลุ่มบัญชีม้า 5 ราย, กลุ่มจัดหาบัญชีม้าและฟอกเงิน 2 ราย ตรวจยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จำนวนหลายรายการ อาทิ  อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ , โน้ตบุ๊ก , โทรศัพท์มือถือ จำนวน 53 เครื่อง ซึ่งใช้ผูกแอปพลิเคชันธนาคารพร้อมใช้งาน , สมุดบัญชีธนาคาร , บัตรกด ATM  และทรัพย์สินมีค่าอีกจำนวนหลายรายการ 


ในส่วนผู้ต้องหาชาวจีนและมาเลเชียที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศ จำนวน 9 ราย ซึ่งอยู่
ระหว่างประสานงานติดตามจับกุมตัว คือ

1. MR.HUORONG     สัญชาติจีน

2. MR. SHENGWEI   สัญชาติจีน

3. MR. ZHIQIANG     สัญชาติจีน

4. MS. DI                   สัญชาติจีน

5. MS. PEILING        สัญชาติจีน

6. MS.XIANLI            สัญชาติจีน

7. MR.FEIFEI            สัญชาติจีน

8. MR.ZIHAO            สัญชาติจีน

9. MR.TIAH              สัญชาติมาเลเซีย


โดยรายที่ 1-5 เป็นกลุ่มผู้สั่งการหรือนายทุน  ส่วนรายที่ 6-9 เป็นกลุ่มจัดหาบัญชีม้าและฟอกเงิน จากการตรวจสอบพบว่า ระหว่างเดือน พ.ค.2565 ถึงปัจจุบัน กลุ่มคนร้ายมีการรับเงินดิจิทัสสกุล USDT ประมาณ 230 ล้านเหรียญ คิดเป็นเงินไทย มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท และมียอดเงินหมุนเวียน กว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าเป็นเงินที่ได้จากการกระทำความผิด

 

สอบถามเบื้องต้นผู้ต้องหาแต่ละรายให้การภาคเสธ โดย นายปรัชญา ให้การยอมรับว่า ตนเองได้ร่วมกับนายภัทรกษิณ ในการจัดหาบัญชีธนาคารและบัญชีเทรดคริปโตม้า โดย นายภัทรกษิณ จะได้รับการว่าจ้างจากนายทุนขาวมาเลเซีย และ MR.TAH  สัญชาติมาเลเซีย ให้จัดหาบัญชีธนาคารและบัญชีเทรดคริปโตม้า 

 

จากนั้นนายภัทรกษิณ จะสั่งการให้นายปรัชญาไปจัดหาคนเปิดบัญชีม้า พร้อมทั้งเปิดบัญชีเทรดคริปโตม้า โดยมีการผูกแอปธนาคารและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเหรียญดิจิทัลไว้ในโทรศัพท์มือถือ ในลักษณะพร้อมใช้งาน จากนั้นจะส่งโทรศัพท์มือกล่าวกล่าวไปยัง ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อส่งต่อไปยังฐานปฏิบัติการของกลุ่มคนร้ายในประเทศ สปป.ลาว โดยนายทุนชาวมาเลเซียจะจ่ายค่าจ้างเป็นเงินบาท และเงินดิจิทัลสกุล USDTคิดเป็นเงินประมาณ 10,000 บาท ต่อบัญชีม้าหนึ่งบัญชี

 

นอกจากนี้ ยังพบว่า นายภัทรกษิณ ได้ให้ลูกน้องจดทะเบียนบริษัท และเช่าบ้านแห่งหนึ่งย่านเขตบางชัน กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นสำนักงานเพื่อใช้ในการฟอกเงินที่ได้จากการจัดหาบัญซีม้าให้กับกลุ่มนายทุนชาวมาเลเซีย และหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม โดยพบว่า เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2564 ถึง สิงหาคม พ.ศ.2566 มีรายได้จากการจัดหาบัญชีม้าให้กับกลุ่มนายทุน มากกว่า 28 ล้านบาท

 

อีกทั้งยังพบว่า นายภัทรกษิณ เคยสั่งให้ นายปรัชญา ส่งโทรศัพท์มือถือ บัญชีม้า ไปยังสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก มีทั้งในและต่างประเทศ ต่างประเทศ  ซึ่งเป็นจังหวัดตามแนวตะเข็บชายแดน จากนั้นจะมีการลักลอบลำเลียงบัญชีม้าออกไป ยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้กลุ่มคอลเซ็นเตอร์และกลุ่มการพนันออนไลน์ที่มีฐานปฏิบัติการอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้ในการกระทำความผิด


สอบถามปากคำผู้ต้องหาเบื้องต้น ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธตามข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยนายภัทรกษิณผู้ต้องหาที่ 1 และ นายปรัชญา ผู้ต้องหาที่ 2 รับว่าตน เป็นผู้จัดหาบัญชีส่งให้กับ กลุ่มคนร้ายไปใช้ในการกระทำความผิดจริง แต่ตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการหลอกลวง