ข่าว

นายกฯไทย – มาเลย์ หารือทวิภาคี มุ่งสร้างความสงบสุข ส่งเสริมการท่องเที่ยว

นายกฯไทย – มาเลย์ หารือทวิภาคี มุ่งสร้างความสงบสุข ส่งเสริมการท่องเที่ยว

03 ส.ค. 2567

นายกฯไทย –มาเลเซีย หารือทวิภาคี มุ่งสันติภาพ ส่งเสริมท่องเที่ยว พัฒนาถนน รถไฟ ขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาล

นายกฯไทย - มาเลเซีย

3ส.ค.2567 เวลา 10.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานนราธิวาส โดยมีพล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)  พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี  ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9  (ผบช.ภ.9.) พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ นายซาการียา สะอิ  สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย และนายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ รอให้การต้อนรับ 

 

จากนั้นเวลา 11.10 น. นายกฯ เดินทางถึงด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะประธานรัฐสภา นายซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ  และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) เขต 3 นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ส.ส. นราธิวาส เขต 2 พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) และนายซาการียา สะอิ  สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย ให้การต้อนรับ 

จากนั้นเวลา 11.22 น. ดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย พร้อมประมุขมนตรีรัฐกลันตัน และคณะ เดินทางด่านสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายเศรษฐา ให้การต้อนรับพร้อมจับมือทักทาย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศจะร่วมหารือทวิภาคีกลุ่มเล็ก

 

โดยนายกฯ กล่าวว่า การลงพื้นที่ ร่วมกันครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Peace and Prosperrity) และแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ ความจริงจังและเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำทั้งสองประเทศในการร่วมมือกันเพื่อรักษาความสงบในบริเวณชายแดน พร้อมขอบคุณมาเลเซียสำหรับการขับเคลื่อนความร่วมมือ ผ่านการจัดประชุมคณะทำงานด้าน การค้าชายแดน และการค้าการลงทุนและ

 

หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะได้ร่วมกันในหลักการให้จัดประชุมคณะทำงาน working group ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศจะหารือกันในกรอบความร่วม มือ JC และ JDS พร้อมกันนี้ ทั้งสองฝ่าย ตกลงร่วม ในความร่วมมือเกี่ยวกับสินค้าและมาตรฐานฮาลาล ทั้งสองประเทศเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน

 

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อความร่วมมือในการขุดลอกแม่ล้ำโกลก ที่ตื้นเขิน ทำให้เกิด ปัญหาน้ำท่วม โดยฝ่ายมาเลเซียขอความช่วยเหลือ ในการหารือนายกรัฐมนตรีได้แจ้งว่าจะสั่งการกระทรวงการต่างประเทศ จัดการประชุมร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณา ความร่วมมือต่อไป

 

ในช่วงท้าย ของการหารือนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายรับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนาน ข้ามแม่น้ำโกลก

 

ต่อมาเวลา 13.20 น. นายเศรษฐา เดินทางถึง Pasir Mas District and Land Office รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย  โดยมีการแสดงเครื่องคอมปังต้อนรับ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมของมาเลเซียที่ได้รับความนิยมมากที่สุด มักใช้ในงานรื่นเริง เช่น ในขบวนพาเหรดงานวันชาติ งานเลี้ยงที่เป็นทางการ เป็นต้น  ก่อนที่นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ลงนามในสมุดเยี่ยม  จากนั้น นายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน

 

โดยนายเศรษฐา กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีมาเลเชีย สำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นถือเป็นเครื่องสะท้อนว่าทั้งสองประเทศมีมิตรภาพที่แน่นแฟ้น สะพานสุไหงโก-ลก จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนของทั้ง2 ประเทศได้เป็นอย่างดี และเป็นโอกาสที่ได้หารือกันเรื่องเขตการค้าพิเศษระหว่างกัน ทั้งนี้ การหารือในครั้งนี้จะเป็นโอกาสด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเดินทางกลับมายังพื้นที่นี้อีกครั้งหนึ่งเพื่อชื่นชมพัฒนาการที่เกิดขึ้น

 

จากนั้นเวลา 14.16 น.นายเศรษฐา ทวิตข้อความผ่าน X ระบุว่า การลงพื้นที่ชายแดนไทย - มาเลเซียกับท่านนายกฯ @anwaribrahim วันนี้ เรามาเพื่อย้ำความมุ่งมั่นเรื่องความสงบสุขและการพัฒนา เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนสองประเทศ ตนได้มาเยี่ยม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส - เมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ได้ดูโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ เชื่อมโยงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทยและภาคเหนือของมาเลเซียร่วมกัน 

 

นายกฯ ระบุอีกว่า เรายังได้หารือกันเกี่ยวกับการพัฒนาถนน และรถไฟ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร และโครงการ Rubber City ที่จะเชื่อมโยงระหว่าง สงขลาและรัฐเคดะห์ 2 จุด ซึ่งจะช่วยพัฒนาการผลิตยางร่วมกันให้ส่งออกได้มากขึ้น รวมถึงอุตสาหกรรมฮาลาลที่ทางมาเลเซียมี Pasir Mas Halal Park ที่กลันตัน ตรงนี้ยังต้องการวัตถุดิบและสินค้าจากไทย อีกประเด็นคือ การขับเคลื่อนการท่องเที่ยว “Six Countries, One Destination” ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว