Lifestyle

6 ก.พ. 'วันมวยไทย' ร่วมส่งเสริม ยกย่อง ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ของ ไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

6 กุมภาพันธ์ 'วันมวยไทย' ร่วมส่งเสริม ยกย่อง 'มวยไทย' ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ของ ชนชาติไทย ที่มีมาตั้งแต่โบราณ

'วันมวยไทย' ตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี โดยถือเอาวันที่ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) เสด็จขึ้นครองราชย์ ด้วยพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถด้านมวยไทยเป็นที่ประจักษ์ และมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน

 

 

มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของชนชาติไทยมาตั้งแต่โบราณ ดังปรากฏในประวัติศาสตร์และพงศาวดารมาทุกยุคทุกสมัย เป็นการใช้อาวุธของร่างกาย 9 อย่าง หรือที่เรียกว่า นวอาวุธ ได้แก่ มือ 2/เท้า 2/ เข่า 2/ ศอก 2 และศีรษะ 1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นศิลปะการต่อสู้ที่เก่าแก่ประเภทหนึ่งของโลก 

 

 

จากความสำคัญดังกล่าว กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียน มวยไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2553 ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดความตระหนักในคุณค่าการยกย่ององค์ความรู้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ

 

 

นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับภาคเอกชนที่ดำเนินการเกี่ยวกับมวยไทย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีมติเป็นเอกฉันท์ในการร่วมกันผลักดันให้มีการสถาปนา 'วันมวยไทย' ขึ้น โดยได้พิจารณาจากข้อเสนอต่างๆ อย่างรอบคอบ ซึ่งในที่สุดได้เห็นชอบให้วันขึ้นเสวยราชสมบัติของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (สมเด็จพระเจ้าเสือ) คือ วันที่ 6 ก.พ. เป็น 'วันมวยไทย' (วันเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติตรงกับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2245) เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ปรากฏชัดเจน

 

 

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2554 กำหนดให้วันที่ 6 ก.พ. ของทุกปี เป็น 'วันมวยไทย'

 

 

'มวยไทย' เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็น "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วยการโจมตีจากร่างกายทั้ง หมัด, ศอก, เข่า และเท้า หากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ

 

 

มวยไทย ได้เป็นที่แพร่หลายในระดับนานาชาติในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อเหล่านักมวยไทยสามารถเป็นฝ่ายชนะนักต่อสู้ที่มีชื่อเสียงในแขนงอื่น ซึ่งการแข่งขันมวยไทยในระดับอาชีพ ได้รับการดูแลโดยสภามวยไทยโลก

 

 

ปัจจุบัน ทางสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มีแผนที่จะผลักดัน กีฬามวยไทย เข้าสู่ กีฬาโอลิมปิก และใน พ.ศ. 2557 ทางองค์การสหประชาชาติได้ให้การยอมรับ มวยไทย เป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก โดยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสภามวยไทยโลก และสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ

 

 

มวยไทย สืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้นๆ โดยมีสายสำคัญหลัก เช่น 

 

  • มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) 
  • มวยโคราช (ภาคอีสาน) 
  • มวยไชยา (ภาคใต้) 
  • มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) 

 

มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา"

 

 

ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่นๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัตริย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย) และจะมีการแข่งขันต่อสู้-ประลองกันในงานวัด และงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล-เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค

 

 

การชก มวยไทย ที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญที่มีการเปรียบเทียบว่า "ประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์" อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล (วงนอก) และระยะประชิด (วงใน) และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้

 

 

มวยไทย เริ่มมีชื่อเสียงในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีชื่อเสียงอย่างมากในต่างประเทศในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผ่านการถ่ายทอดทางสื่อต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ อันช่วยส่งเสริมมวยไทยในวัฒนธรรมสมัยนิยม อาทิ ภาพยนตร์ และวีดีโอเกม เป็นต้น

 

 

ข้อมูล : วิกิพีเดีย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ