Lifestyle

เบิ่งลาวไปศูนย์'ห้วยซอน-ห้วยซั้ว'ชมโครงการ21ปีแห่งความสำเร็จ

ท่องโลกเกษตร : เบิ่งลาวไปศูนย์ 'ห้วยซอน-ห้วยซั้ว' ชมโครงการ 21 ปีแห่งความสำเร็จ : โดย...ดลมนัส กาเจ

 
                      อีกครั้งที่ได้มีโอกาสหวนไปสัมผัส ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชานลาว (สปป.ลาว) ในวันที่สายฝนโปรย ในระหว่างที่ทีมงานจากบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด เดินทางไปโรดโชว์เพื่อชักชวนผู้ประกอบการและแกนนำเกษตรกร สปป.ลาว ไปร่วมชมงาน “ซีมา อาเซียน ไทยแลนด์ 2015” หรือ “ซีมา อาเซียน” ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน นี้ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
 
                      คณะของเราเริ่มต้นที่โรงแรมดอนจัน พาเลส ติดแม่น้ำโขงที่นครหลวงเวียงจันทน์ แวะรับผู้นำทาง “สะลอง ทินนะวง” นักวิชาการเกษตร กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ และเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ มุ่งหน้าสู่ทางภาคเหนือใช้ระทางทาง 22 กม.ใช้เวลาการเดินทางกว่าครึ่งชั่วโมง ถึงในพื้นที่โครงการศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) ที่บ้านนายาง เมืองนาทรายทอง นครหลวงเวียงจันทน์ ทันทีที่ไปถึง เสียงเจ้าของพื้นที่ ตำปัน สิดทิวง นักวิชาการเกษตรในฐานะหัวหน้าบริหารแผนการและการร่วมมือ พร้อม เข็มทอง แทมคำพัก หัวหน้าหน่วยงานส่งเสริมและฝึกอบรม และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์จำนวนหนึ่ง เข้ามาทักทายเป็นการต้อนรับตามประเพณีด้วยภาษาลาวว่า
 
                      “สะบายดี ยินดีต้อนฮับ! คณะจากไทยมาเยือนชมำความสำเร็จของศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว ใน 21 ปีที่ผ่านมา”
 
                      ศูนย์พัฒนาและบริการด้านการเกษตร ห้วยซอน-ห้วยซั้ว (หลัก 22) เป็นหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่พสกนิกรทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างองค์ความรู้ที่ก่อเกิดประโยชน์ต่อสาธารณชนได้อย่างเหมาะสมตามสภาพภูมิสังคมอย่างยั่งยืน โดยโครงการนี้เกิดขึ้นมาจากที่ ท้าวไกสอน พมวิหาน อดีตประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2535 และได้มีสาส์นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี 2535 ในการจัดตั้งโครงการศูนย์พัฒนาด้านการเกษตรใน สปป.ลาว ขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างและสถานที่ถ่ายทอดความรู้ทางวิชาการด้านเกษตรกรรม ตลอดจนประสบการณ์จากตัวอย่างจริงให้แก่ราษฎรชาวลาว
 
                      ต่อมาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดศูนย์พัฒนาฯแห่งนี้ร่วมกับ ท้าวหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศแห่ง สปป.ลาว ถือเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งแรกใน สปป.ลาว โดยมี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ และกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ กระทรวงการต่างประเทศลาว ร่วมกันรับผิดชอบ
 
                      ลักษณะพื้นที่ของโครงการนั้นเป็นรูปสี่เหลี่ยมมีความกว้างประมาณ 800 เมตร ยาวประมาณ 900 เมตร มีลำห้วย 2 สายล้อมรอบพื้นที่ 3 ด้าน การดำเนินการและการบริหารมีลักษณะเช่นเดียวกันกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริในประเทศไทย โดยเน้นการพัฒนาถ่ายทอดความรู้ และบริการสู่เกษตรกร หลังจากที่ประสบผลสำเร็จจากการศึกษาในศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของประเทศไทยมาแล้ว
 
                      วัตถุประสงค์โครงการ คือเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่าง สปป.ลาว และประเทศไทยให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยการให้ความช่วยเหลือในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิทยาการความรู้ด้านการเกษตรต่างๆ อาทิ เพื่อเป็นสถานที่สาธิตกิจกรรมด้านการเกษตรโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและภูมิประเทศเป็นสำคัญ ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ ให้แก่ราษฎรลาว โดยให้การฝึกอบรมเพื่อให้ราษฎรลาวสามารถนำเอาความรู้วิชาการและวิทยาการต่างๆ ในด้านการเกษตรไปใช้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งจะสามารถเรียนรู้ได้จากตัวอย่างจริง นอกจากนี้เพื่อมุ่งส่งเสริมและยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของราษฎรลาวในบริเวณพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงให้ดีขึ้น
 
                      ปัจจุบันประชาชนชาวลาวให้ความสนใจเดินทางเข้าศึกษาเรียนรู้และดูงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ฝึกงานของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ใน สปป.ลาว อีกด้วย นับได้ว่าแนวพระราชดำริได้แผ่ขยายองค์ความรู้ และความสำเร็จ สร้างประโยชน์สุขให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน อันเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และความสามัคคีให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงยิ่งขึ้น
 
                      คำปัน เล่าว่า ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ ในรอบ 21 ปีที่ผ่านมา ได้ถ่ายทอดความรู้ บทเรียนและประสบการณ์จากตัวอย่างจริงให้แก่ชาวบ้าน ตลอดจนนักพัฒนาชนบทของ สปป.ลาว พร้อมได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ตามแนวงานหลัก 7 แผนงานคือ การพัฒนาแหล่งน้ำ มีการขุดสระน้ำประจำไร่นา, การปลูกฝังหรือการเพาะปลูกเน้นปลูกข้าว พืชผักสวนครัว, การสาธิตการประมง เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน เลี้ยงกบ, การปศุสัตว์วัว ไก่, การพัฒนาที่ดินและวิชาการเกษตร, การให้บริการพันธุ์ปลา พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และการฝึกอบรมให้ความรู้จากของจริง โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำงานร่วมกันและมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยหมุนเวียนกันเดินทางไปปฏิบัติงานใน สปป.ลาว เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อติดตามการดำเนินงานและร่วมหารือให้ข้อเสนอแนะ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
 
                      ทั้งนี้ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณพื้นที่โครงการและใกล้เคียง เกษตรกรที่ได้มาศึกษาดูงานทั่วไปสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการทำให้สามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้สูงขึ้น ฝึกอบรมให้ราษฎรชาวลาวนำเอาความรู้ทางวิชาการและวิทยาการต่างๆ ไปใช้ในการประกอบอาชีพซึ่งสามารถเรียนรู้ได้จากตัวอย่างของจริง
 
                      “การดำเนินการของศูนย์ฯ แห่งนี้มา 21 ปี ประสบผลสำเร็จได้เป็นอย่างดี ที่เห็นชัดเจนคือได้ผลดีในการเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้แก่ราษฎรชาวลาวเป็นอย่างมาก ทุกวันนี้เกษตรกรที่ร่วมโครงการและนำไปปฏิบัติจริง สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 13-20 ล้านกีบ หรือ 6 หมื่นบาทต่อคน” คำปัน กล่าวก่อนที่คณะของเราจะไปชมโครงการต่างๆ ภายในศูนย์แห่งนี้
 
                      นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เป็นพระราชกรณียกิจของในหลวงของเรา ที่ทรงก่อให้เกิดคุณูปการและยกคุณภาพชีวิตประชาชนของประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน
 
 
 
 
 
------------------------
 
(ท่องโลกเกษตร : เบิ่งลาวไปศูนย์ 'ห้วยซอน-ห้วยซั้ว' ชมโครงการ 21 ปีแห่งความสำเร็จ : โดย...ดลมนัส กาเจ)
 
 
 
 

ข่าวที่น่าสนใจ