ข่าว

สส.รับหลักการ กฎหมายห้ามตีเด็ก ตั้งคณะกรรมาธิการฯ 42 คน ศึกษา

สส.รับหลักการ กฎหมายห้ามตีเด็ก พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการฯ 42 คน ศึกษา และกำหนดแปรญัตติใน 15 วัน

24 ก.ค. 2567 ที่ อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567 (2) เกี่ยวกับการลงโทษเด็กที่เสนอ

โดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อกำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตร ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 1567 (2)

และเป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากวันพุธที่ 10 ก.ค. 2567 ซึ่งมีสมาชิกได้อภิปรายและแสดงความคิดเห็นจนได้ข้อยุติแล้ว  อีกทั้งประธานในที่ประชุมได้สั่งปิดการประชุมและเพื่อให้ผู้เสนอได้ใช้สิทธิอภิปรายสรุปในการประชุมคราวถัดไป ดังนั้นในวันนี้จึงดำเนินการต่อเนื่องตามข้อบังคับข้อที่ 75 ให้ผู้เสนอมีสิทธิอภิปรายสรุปได้อีกครั้งก่อนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติร่างกฎหมายดังกล่าว

 

 

นายณัฐวุฒิ ในฐานะผู้เสนอแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมาย กล่าวว่า ปัจจุบันประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองว่ามีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนนั้น มีการบังคับใช้มาเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งพบว่าการลงโทษนั้นหลายกรณีกลับกลายเป็นการกระทำในลักษณะทารุณกรรมหรือทำร้าย อันส่งผลกระทบต่อร่างกายหรือจิตใจของบุตร เป็นการเมี่ยนตีบุตร หรือทำโทษด้วยวิธีการอื่นอันเป็นการด้อยค่า

ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของบุตรและไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการกระทำผิด หรือพฤติกรรมของบุตรที่จำเป็นต้องว่ากล่าวสั่งสอน ประกอบกับการปรับแก้ไขสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองในการทำโทษบุตรนี้ เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ที่ออกตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และประเทศไทยได้ตอบรับและให้คำมั่นโดยสมัครใจที่จะปฏิบัติตามภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ 2 (พ.ศ.2559 ถึง พ.ศ. 2563) อีกด้วย

พร้อมย้ำว่าการทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กจะนำไปสู่การเกิดความกลัววิตกกังวลและสภาวะเจ็บป่วยทางร่างกาย และสภาวะซึมเศร้า รวมถึงมีภาวะยอมรับตัวเองต่ำ ตลอดจนอาจจะมีภาวะอารมณ์แปรปรวนก้าวร้าวไม่เข้าใจเหตุผลจนนำไปสู่การต่อต้านสังคม จึงจำเป็นต้องทบทวนเจตนารมย์ว่าการลงโทษเพื่อว่ากล่าวตักเตือนนั้น จำเป็นต้องใช้การเฆี่ยนตี หรือวิธีการอื่นใดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กหรือไม่

 

 

พร้อมได้ยกตัวอย่างงานวิจัยว่าความรุนแรงจากรุ่นสู่รุ่นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างโครโมโซม หรือ ดีเอ็นเอ ด้วย จึงอยากให้สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  มาตรา 1567 (2) เพื่อตอกย้ำว่าประเทศไทยคุ้มครองเด็กทุกคนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายสรุปหลักการและเหตุผลเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการเห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 400 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียงอีก 1 เสียง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน ดังนั้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 128 วรรคสองและข้อบังคับ ข้อที่ 121 จะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการในสัดส่วนของผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเด็ก และเยาวชนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งตามสัดส่วนคณะกรรมาธิการที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอจำนวน 42 คน จึงประกอบไปด้วยคณะรัฐมนตรี 7 คน พรรคการเมือง 21 คน ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนอีกจำนวน 14 คน โดยมีกรอบระยะเวลาแปรญัตติ 15 วัน

ข่าวยอดนิยม