ไลฟ์สไตล์

ศ.ศ.ป.จุดพลุ'ทายาทหัตถศิลป์'

ศ.ศ.ป. จุดพลุ 'ทายาทหัตถศิลป์'

                      ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เดินหน้าโครงการอนุรักษ์มรดกศิลปหัตถกรรมจัดทำโครงการ “ทายาทหัตถศิลป์” คัดเลือก 10 ทายาทครูช่างและช่างหัตถศิลป์ของไทยรวบรวมผลงานที่สืบทอดแนวคิด ฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์และสืบสานงานศิลปหัตถกรรมให้ดำรงอยู่ต่อไป พร้อมจัดแสดงผลงาน-นิทรรศการเผยแพร่แก่ผู้รักงานศิลปหัตถกรรมร่วมสมัยและสาธารณชนในงานเทศกาลนวัตศิลป์นานาชาติ 2556 (International Innovative Craft Fair) ระหว่างวันที่ 2-5 พฤษภาคม 2556  ที่ไบเทค พฤษภาคมศกนี้

                      พิมพาพรรณ  ชาญศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. ได้กล่าวถึงโครงการดังกล่าวว่า ปัจจุบันงานศิลปหัตถกรรมโดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียนมีการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์มากขึ้น มีการส่งเสริมด้านการผลิตจากงานหัตถกรรมที่เคยเน้นการใช้ฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่นเปลี่ยนเป็นงานที่พัฒนาให้เกิดความสร่วมสมัย มีประโยชน์ใช้สสอย เพื่อให้ตรงตามความต้องการของตลาด นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เข้าสู่ภาวะการลดความนิยมในงานศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิม ขาดการอนุรักษ์สืบทอดในฐานะสมบัติของชาติ จากแนวคิดนี้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ซึ่งมีพันธกิจหลักในการพัฒนาทักษะฝีมือช่างและยกระดับความสามารถ เพื่อให้ผลงานศิลปาชีพและหัตถกรรมของไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลก อีกทั้งให้ความสำคัญในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพและหัตถกรรมพื้นบ้าน งานฝีมืออันเป็นมรดกอันล้ำค่าของไทยให้เกิดการอนุรักษ์ให้คงอยู่และสืบทอดต่อไปในอนาคต จึงได้จัดทำโครงการ “ทายาทหัตถศิลป์” ขึ้น เพื่อสร้างโอกาสแก่ผู้สืบทอดงานอันเป็นมรดกให้มีช่องทางในการเข้าสู่ตลาด และเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งทายาทหัตถศิลป์ รุ่นที่ 1 ของ ศ.ศ.ป. ที่เป็นคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะเป็นตัวแทนในการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ในวงกว้าง เพื่อให้งานศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมที่มีคุณค่าเหล่านี้ได้ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

                      "โครงการทายาทหัตถศิลป์นี้ได้คัดเลือกทายาทผู้สืบทอดมรดกงานฝีมืองานศิลปหัตถกรรมรวม 10 ท่าน จากสาขาต่างๆ ทั้ง 9 สาขา ประกอบด้วย เครื่องไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องทอ(เครื่องผ้า) เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องหิน โดยส่วนหนึ่งเป็นทายาทของครูช่างซึ่งได้รับการยกย่องจาก ศ.ศ.ป.และช่างศิลป์ที่รับรางวัลจากศ.ศ.ป.โดยมีเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นผู้สืบสายเลือดโดยตรงจากครูช่างหรือช่างศิลป์ฯ และปัจจุบันยังคงดำรงกิจการหรือประกอบการอยู่ รวมถึง ทายาทงานศิลปหัตถกรรมที่ต่อยอดธุรกิจงานหัตถศิลป์จากบรรพบุรุษจนมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบันอีกด้วย" ผอ.ศ.ศ.ป. กล่าวปิดท้าย

 

 

 

ข่าวยอดนิยม