คอลัมนิสต์

หลงเหลี่ยม “พิธา” พ่ายเกมเก๋า “บ้านใหญ่” แห่ลาออกสกัด อบจ.สีส้ม

ดับฝัน อบจ.สีส้ม พิธา-ก้าวไกล ตั้งตัวไม่ทัน เจอเกมเก๋า นายก อบจ.บ้านใหญ่ 7 จังหวัด แห่ลาออกก่อนครบวาระ ชิงความได้เปรียบ

กลยุทธ์ทิ้งเก้าอี้ พิธา-ก้าวไกล ตั้งตัวไม่ทัน เกมเก๋า นายก อบจ.บ้านใหญ่ แห่ลาออกก่อนครบวาระ ชิงความได้เปรียบ สกัดท้องถิ่นสีส้ม
 

นายก อบจ.บ้านใหญ่ ลาออกไปแล้ว 7 จังหวัด ส่อเค้าแชมป์เก่ากลับ มาได้หมด ก้าวไกลชวดลงสนาม เหตุเตรียมตัวผู้สมัครไม่ทัน


ปลายปีที่แล้ว แกนนำพรรคก้าวไกล ทั้งพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และชัยธวัช ตุลาธน ต่างประกาศขอรุกคืบในสนามการเมืองท้องถิ่น ในนาม “ก้าวไกล” เต็มตัว


นับแต่เดือน ก.พ.2567 พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล เพิ่งเดินสายเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. ผ่านไปแล้ว 4 จังหวัดคือ ภูเก็ต อุดรธานี เชียงใหม่ และตราด


ระหว่างนั้น พลพรรคสีส้ม ก็เจอเก๋มเกาของนายก อบจ.สายบ้านใหญ่ ที่เล่นเกมชิงลาออกก่อนครบวาระ เฉพาะสัปดาห์นี้ มีการทยอยลาออกแบบผิดปกติ



อัครา พรหมเผ่า น้องชายธรรมนัส ชิงลาออกจากนายก อบจ.พะเยา ก่อนครบวาระ

 

13 มิ.ย. อัครา พรหมเผ่า นายก อบจ.พะเยา น้องชาย ร.อ.ธรรม นัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ 
 

14 มิ.ย. สมทรง พันธ์เจริญวรกุล นายก อบจ.พระนครศรีอยุธยา มารดา สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ พรรคภูมิใจไทย ทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว กกต.กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 4 ส.ค.2567 เป็นวันเลือกตั้ง 


19 มิ.ย. อร่าม โล่ห์วีระ นายก อบจ.ชัยภูมิ บิดา อัครแสน โล่วีระ สส.ชัยภูมิ พรรคพลังประชารัฐ สายตรง ร.อ.ธรรมนัส 


20 มิ.ย. มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก ที่มีความใกล้ชิดนพพล เหลืองทองนารา สส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย


นายก อบจ.ที่ชิงลาออกก่อนครบวาระ วันที่ 18 ธ.ค.2567 มักจะอ้างเรื่องกับดัก 180 วัน ตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งนายก อบจ.ไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณ ลงไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้


ว่ากันว่า เหตุผลที่แท้จริง นายก อบจ.สายบ้านใหญ่ คือไม่ต้องการลงสนามเลือกตั้งนายก อบจ.พร้อมกันทั่วประเทศ เพราะถึงเวลานั้น พวกเขาหวั่นก้าวไกล ปั่นกระแสท้องถิ่นสีส้ม เหมือนตอนเลือกตั้ง สส.ปีที่แล้ว


หากพรรคก้าวไกล ปั่นกระแสเลือกนายก อบจ.สีส้มได้ นักการเมืองท้อง ถิ่นสายบ้านใหญ่ ก็มีโอกาสจะแพ้สูง

โมเดลบ้านใหญ่สีน้ำเงิน


ต้นแบบกลยุทธ์ชิงลาออกก่อนครบวาระ ต้องยกให้ ธนาวุฒิ ทิมสุวรรณ ที่ยื่นใบลาออกจากนายก อบจ.เลย ช่วงปลายเดือน ก.พ.2567
 

หลังจากนั้น บ้านใหญ่ตระกูลทิมสุวรรณ ส่ง ชัยธวัช เนียมศิริ อดีต ผวจ.เลย ที่ลงสมัครนายก อบจ.เลย ในนามกลุ่มพัฒนา


ในการเมืองระดับชาติ บ้านใหญ่เมืองเลย สังกัด 2 พรรคคือ ศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย เพื่อไทย ลูกชาย ธนเทพ-นันทนา ทิมสุวรรณ อดีต สส.เลย และธนยศ ทิมสุวรรณ สส.เลย ภูมิใจไทย ลูกชาย ธนาวุฒิ-ใยอนงค์ ทิมสุวรรณ 


ผลการเลือกตั้งนายก อบจ.เลย เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2567 ชัยธวัช เนียมศิริ ชนะคู่แข่งขาดลอย ซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่โหนสีส้ม แต่พรรคก้าวไกล ไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. ชาวบ้านจึงไม่ให้ความสนใจ


อีก 2 เดือนถัดมา พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ สุรเชษ นิ่มกุล นายก อบจ.อ่างทอง และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายก อบจ.ปทุมธานี ก็ลาออกพร้อมกัน


การเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้ง 3 จังหวัด จะมีขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ และพรรคก้าวไกล ก็ไม่พร้อมส่งผู้สมัครนายก อบจ.


ดับฝัน อบจ.สีส้ม

ที่ผ่านมา แกนนำพรรคก้าวไกล มอบให้ ติ่ง-ศรายุทธ ใจหลัก ผู้อำนวยการพรรค รับผิดชอบโครงการท้องถิ่นก้าวหน้า หรือท้องถิ่นสีส้ม
 

ศรายุทธ ใจหลัก เป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์กับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และชัยธวัช ตุลาธน มาแต่สมัยก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่


เมื่อปี 2563 ศรายุทธ ก็ไปช่วยธนาธร และคณะก้าวหน้า ลุยเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล และ อบต. เป็นการสั่งสมประสบการณ์ แต่มาเจอเกมเก๋าของบ้านใหญ่แห่ลาออก ค่ายส้มก็ตั้งตัวไม่ทัน
 

อย่างกรณีพรรคก้าวไกล ไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ. 3 แห่ง เท่ากับกลยุทธ์ชิงลาออกก่อนครบวาระของ คำรณวิทย์-สมศักดิ์-สุรเชษ ได้ผล
 

คาดหมายว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.อีก 4 จังหวัดที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.นี้ ค่ายส้มก็ไม่พร้อมลุยนายก อบจ. และอดีตนายก อบจ.สายบ้านใหญ่ ก็คงได้กลับมาบริหารท้องถิ่นอีกครั้ง

ข่าวที่น่าสนใจ