บันเทิง

'Olympus Has Fallen vs. White House Down'

'Olympus Has Fallen vs. White House Down' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม



    
          ปีนี้มีหนังแอ็กชั่นที่ว่าด้วยกลุ่มผู้ก่อการร้ายบุกยึดทำเนียบขาว จับตัวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเป็นตัวประกัน เข้าฉายในเวลาไล่เรียงกันสองเรื่อง นอกจากพล็อตที่เหมือนกันเป๊ะแล้ว คาแรกเตอร์ตัวละคร การจัดวางสถานการณ์ ตลอดจนเงื่อนไข ตัวแปรต่างๆ ที่ตัวละครต้องเผชิญยังมีความละม้ายคล้ายเคียงกันอย่างยิ่ง ต่างกันตรงที่ประธานาธิบดีอเมริกาใน Olympus Has Fallen เป็นคนผิวขาว ส่วน White House Down เป็นคนผิวสี ส่วนผู้ก่อการร้ายของเรื่องแรกเป็นคนเกาหลี ในขณะที่เรื่องหลังเป็นคนอเมริกันด้วยกันเอง (มีทหารรับจ้างอเมริกาใต้ปะปนอยู่บ้าง) แถมการดำเนินเรื่องยังใกล้เคียงกัน แต่สุดท้ายแล้วเมื่อลงในรายละเอียด จะพบว่าทั้ง Olympus Has Fallen และ White House Down ก็มีความต่างในแนวคิดและมิติของตัวละครที่ไม่เหมือนกัน ส่วนหนึ่งมาจากลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเป็นสไตล์ของผู้กำกับแต่ละคนนั่นเอง
    
          งานของ อังตวน ฟูกัว ดูจะมืดหม่น แสดงด้านร้ายของตัวละครให้ปรากฏในหนังอยู่บ่อยๆ แม้ตัวละครเอกของเขาจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ แต่ก็หาใช่คนใสซื่อมือสะอาด เช่นในหนังเรื่องดังของเขาอย่าง Training Day ที่ทำให้ เดนเซล วอชิงตัน คว้ารางวัลออสการ์มาแล้ว ครั้นใน Olympus Has Fallen ตำรวจอารักขาประธานาธิบดีที่รับบทโดย เจอราร์ด บัทเลอร์ ก็เป็นตัวละครที่มีบาดแผลในใจหลังไม่สามารถช่วยชีวิตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งระหว่างเกิดอุบัติเหตุได้แม้ภาพลักษณ์ภายนอกและบุคลิกจะดูอ่อนโยนเป็นคนรักเด็ก แต่ในวินาทีที่ประจันหน้ากับผู้ร้าย นายตำรวจรายนี้กลับมีจิตใจที่เหี้ยมโหด ลงมือฆ่าผู้ก่อการอย่างเลือดเย็นแม้ในมือบางคนจะเปลือยเปล่าปราศจากอาวุธก็ตาม ในขณะที่ White House Down นายตำรวจหนุ่มที่ชีวิตในอดีตล้มเหลว รวมถึงครอบครัวแตกร้าว อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยงานอารักขาประธานาธิบดี แม้ยังไม่ประสบความสำเร็จและจับพลัดจับผลูเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ยึดทำเนียบขาวเสียก่อน ภารกิจช่วยชีวิตลูกสาวและจับมือกับประธานาธิบดีอเมริกาต่อสู้กับวายร้ายก็ได้ทำให้พวกเขาทั้งคู่กลายเป็นฮีโร่ เหมือนอย่างที่ผู้กำกับ โรแลนด์ เอมเมอริช ทำได้สำเร็จมาแล้วใน Independence Day หนังแอ็กชั่นไซไฟเรื่องดังเมื่อครั้งอดีต
    
          และถึงแม้หนังถล่มทำเนียบขาวทั้งสองเรื่อง จะเต็มไปด้วยฉากทำลายล้าง ยิงกันวายวอด ต่อสู้ห้ำหั่นกันเลือดสาดไม่บันยะบันยัง แต่อารมณ์ของเรื่องดูจะต่างกันสิ้นเชิง White House Down ของผู้กำกับ เอมเมอริช ให้อารมณ์ปลุกเร้าความรักชาติ กระตุ้นวิญญาณความเป็นอเมริกันชนให้ฮึกเหิม ผ่านรายละเอียดต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่องที่ประธานาธิบดีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปทำงานแต่เช้ามืด และขอให้นักบินบังคับเครื่องผ่านหอเกียรติภูมิลินคอล์นทุกครั้ง ขณะเดียวกันเอมเมอริช ก็ดูจะสนุกมือกับฉากทำลายล้าง เช่นเดียวกับหนังหายนภัยหลายๆ เรื่องในช่วงหลังของเขาทั้ง The Day After Tomorrow, 2012 ฉากถล่มทำเนียบขาวในเรื่องหลัง เลยดูจะอลังการงานสร้างวินาศสันตะโรกว่า แต่ทว่าความสมจริงหลายอย่าง ทั้งอำนาจการบริหารเมื่อไร้ประธานาธิบดีของอเมริกา หรือประเด็นทางการเมืองโลกที่สะท้อนผ่านมาในหนัง Olympus Has Fallen กลับทำได้น่าเชื่อถือว่า
    
          แม้ทั้งสองเรื่องจะชูนโยบายสันติภาพที่กลับมาทำร้ายประธานาธิบดีเหมือนๆ กัน แต่ปูมหลังหรือสาเหตุกลับต่างกัน Olympus ขยับไปไกลกว่า เพราะให้ภาพเกาหลีเหนือ ชาติที่สะสมอาวุธนิวเคลียร์เป็นผู้ร้าย แต่เหตุจูงใจนั้นกลับสลดหดหู่กว่า ในขณะที่ผู้ร้ายของ White House เป็นหัวหน้าหน่วยอารักขาที่มีปมฝังใจจากการเสียลูกชายในสนามรบ และอยากให้อเมริกาตอบกลับด้วยสงครามมากกว่าสันติภาพ ประธานาธิบดีจึงต้องกลายมาเป็นผู้รับเคราะห์ แม้พล็อตบทหนังถล่มทำเนียบขาวของผู้กำกับเอมเมอริชจะอ่อนกว่า แต่ความเก๋าในชั้นเชิงการทำหนังแอ็กชั่นของเขาก็สูงกว่า ตำแหน่งการวางจังหวะจะโคน ตั้งแต่การปูเรื่อง สร้างเทิร์นนิ่งพอยท์ ลากไปจนถึงจุดไคลแม็กซ์ หนังทำได้สนุกกว่า กุมอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึก ของผู้ชมได้มากกว่า กระทั่งฉากโบกธงชาติอเมริกันตอนท้ายเรื่อง ก็สามารถสะกิดต่อมน้ำตาความประทับใจให้ทำงานอย่างได้ผลซะด้วย (ขณะที่มุกแบบนี้ คนที่คุ้นชินกับหนังแอ็กชั่นอเมริกันฮีโร่ก็อาจจะรู้สึกเลี่ยนเอียนมากกว่า)
    
          น่าสนใจตรงที่หนังถล่มทำเนียบขาวทั้งสองเรื่องต่างประสบความสำเร็จไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แม้พล็อตจะคล้ายกัน ตัวละครซ้ำๆ กันและออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ใช่ว่าความที่หนังเชิดชูอเมริกันจะประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่รายได้จากทั่วโลกของทั้งสองเรื่องก็ค่อนข้างสูง ไม่ใช่เพราะแฟนหนังคลั่งไคล้ฮีโร่อเมริกันชน แต่เพราะฉากแอ็กชั่นมันหยดในหนังต่างหาก ที่ทั้งสองเรื่องทำได้สนุกเร้าใจไม่ด้อยไปกว่ากัน
    
          ฮอลลีวู้ด ยังคงมีกลยุทธ์ทำหนัง ขายหนัง ปั้นหนัง หรือโปรโมทหนัง ฯลฯ ได้มากมายหลายวิธี ทั้งๆ ที่เนื้อหาหรือพล็อตหนังซ้ำไปวนมา บางเรื่องคล้ายจนดูเหมือนเกือบจะลอกกันมาอยู่แล้ว แต่ชั้นเชิงของคนทำหนัง ที่รู้จักปรับใช้สูตรสำเร็จเดิมๆ พลิกแพลงจัดวางตำแหน่งแห่งหนเสียใหม่และดีไซน์ฉากและคิวบู๊เพิ่มเติม ก็ทำให้ผลงานดูมีความสดใหม่ๆ และได้รับความสนใจจากผู้ชม แม้จะรู้ว่าหนังทั้งสองเรื่องมีความคล้ายคลึงกันก็ตาม
    
          งานโปรดักชั่นของ Olympus Has Fallen และ White House Down เริ่มต้นพร้อมๆ กันคือ เปิดกล้องถ่ายทำกันในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังจากตกลงซื้อบทมาได้ในเดือนมีนาคม ซึ่งเรื่องหลังนั้นซื้อมาในราคาสูงถึง 3 ล้านเหรียญ จนสื่ออเมริกันลงข่าวว่า เป็นหนึ่งในการซื้อขายบทครั้งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว แต่ทั้ง Olympus และ White House ไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายทำในสถานที่จริงแต่อย่างใด โดย Olympus Has Fallen ถ่ายทำในเมืองชรีฟพอร์ต เมืองใหญ่เป็นอันดับ 3 ของรัฐหลุยส์เซียนา ส่วน White House Down ย้ายไปถ่ายทำกันไกลถึงเมืองมอนทรีล และเมืองควิเบก ในประเทศแคนาดา เลยทีเดียว เรื่องแรกลงแผ่นไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนเรื่องหลัง มีกำหนดออกวางจำหน่ายในรูปแบบดีวีดีและบลูเรย์เดือนหน้านี้

.......................................
(หมายเหตุ 'Olympus Has Fallen vs. White House Down' : คอลัมน์ เอกเขนกดูหนัง โดย... ณัฐพงษ์ โอฆะพนม  )

ข่าวยอดนิยม