ไลฟ์สไตล์

ท่องไปในแดนธรรม-วัดต้นเกว๋นที่สุดแห่ง...สล่าล้านนาโบราณ

"ใครไปเชียงใหม่แล้วไม่ไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ สักการะองค์พระธาตุคู่เมืองเชียงใหม่ ก็เหมือนไปไม่ถึงเชียงใหม่นั่นแหละ"

 นี่เป็นคำพูดเปรียบเปรย ที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเชียงใหม่ มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 นอกจากนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีสถานที่หลายแห่งที่ถูกเรียกว่า "ถ้าไม่ไปก็ขึ้นชื่อว่าไม่ถึงเชียงใหม่เช่นกัน"  เช่น ดูแพนด้าที่สวนสัตว์เชียงใหม่ กราบไหว้ขอพรครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยสุเทพ สัมผัสความสูงสุดแห่งแผ่นดินสยามที่ดอยอินทนนท์ สัมผัสความหนาวเหน็บ ที่ดอยอ่างขาง รวมทั้งกินข้าวซอยจากร้านอาหารชื่อดัง ฯลฯ

 ขณะเดียวกัน ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง ที่ขึ้นชื่อว่า ถ้าไม่ไปก็ขึ้นชื่อว่า ไม่ถึงเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก คือ วัดต้นเกว๋น ที่งามและสมบูรณ์ด้วยสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างล้านนาในสมัยโบราณ

 สถาปัตยกรรมของวัดต้นเกว๋น ทั้งวิหารจตุรมุข สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง เป็นศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนา ที่งดงามและทรงคุณค่า ประกอบด้วย วิหาร ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอระฆัง มณฑปจตุรมุข ศาลารอบพระวิหาร

 วัดอินทราวาส หรือที่ชาวบ้านต้นเกว๋น ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เรียกว่า "วัดต้นมะเกว๋น"  เป็นภาษาพื้นบ้านล้านนา เรียกตามชื่อต้นไม้ประจำถิ่น คือ ต้นมะเกว๋น หรือตะขบป่า ในอดีตพื้นที่ใกล้บริเวณที่ตั้งของวัด และหมู่บ้าน มีต้นมะเกว๋นขึ้นอยู่มาก วัดและหมู่บ้านดังกล่าว จึงถูกเรียกตามชื่อของต้นไม้ชนิดนี้ แต่ปัจจุบันต้นมะเกว๋น หลงเหลืออยู่ภายในวัดเพียง ๑ ต้นเท่านั้น

 วัดต้นเกว๋น สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ .๒๔๐๐ ในสมัยพระเจ้ากาวิโลรส สุริยวงค์ เจ้าหลวงผู้ปกครองเมืองเชียงใหม่ลำดับที่ ๖ ทรงปกครองเมืองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๕ - ๒๔๑๒ 

 ต่อมาวัดต้นเกว๋นได้รับการเปลี่ยนชื่อให้เป็นทางการว่า วัดอินทราวาส โดยนำชื่อของเจ้าอาวาสผู้ก่อสร้างวัดในสมัยนั้น ตั้งเป็นชื่อของวัด คือ ครูบาอินทร์ มารวมกับคำว่าอาวาส  (อินทร์-อาวาส) วัดต้นเกว๋นจึงได้รับการเปลี่ยนชื่อเป็นวัดอินทราวาส แต่ชาวบ้านยังเรียกกันติดปากว่า "วัดต้นเกว๋น"

 ในอดีตวัดต้นเกว๋น เป็นวัดที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประเพณีของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ คือเป็นจุดที่พักของขบวนแห่พระบรมธาตุศรีจอมทอง ที่เดินทางมาจากวัดพระธาตุศรีจอมทอง  อ.จอมทอง ไปยังเมืองเชียงใหม่

 ในอดีต ถือเป็นประเพณีของเจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ในการสรงน้ำพระธาตุ จากวัดพระธาตุศรีจอมทองการเดินทางจะมาด้วยขบวนช้าง ขบวนม้า แล้วแวะพักที่วัดต้นเกว๋น เพื่อให้ชาวบ้านได้สรงน้ำพระธาตุศรีจอมทองเป็นสิริมงคล ก่อนจะอัญเชิญต่อไปยังวัดสวนดอก เป็นเวลา ๓ วัน ๗ วัน จากนั้นจึงเคลื่อนขบวนต่อไปยังวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพวรมหาวิหาร เป็นประจำทุกปี

 ด้านสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นด้วยฝีมือช่างล้านนาในสมัยโบราณ นักวิชาการ หรือผู้รู้ คนในด้านศิลปะบอกว่า เป็นวัดที่งามที่สุดในประเทศไทย

 ท่านผู้รู้บอกว่า ศิลปะนี้ไม่ใช่ของสุโขทัย จะเป็นศิลปะของล้านนาโดยเฉพาะ ไม่ใช่ของเชียงใหม่ ไม่ใช่ของพม่า เป็นลายเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นลายดอกไม้ ลายแกะสลักบนลายชุกชี แกะสลักหน้าบันก็ดี อีกอย่างหนึ่งก็คือ ลายปูนปั้น ตัวปูนที่อยู่บนเสาหน้าวิหารหน้าบัน คือปูนติดไม้ ระยะเวลาร้อยๆ ปี ตัวไม้มันกร่อนไป ปูนจะบังไว้อยู่ พอปูนกะเทาะออก ลายไม้จะออกเป็นลายตามรอยปูนเป็นลายอ่อนแก่ไปเลย ถือเป็นศิลปะล้านนาโดยเฉพาะ แตกต่างจากสุโขทัย แตกต่างจากพม่า

 นอกจากประวัติศาสตร์ และความเป็นมาของวัดที่สะท้อนแง่มุมถึงพลังศรัทธาต่อพุทธศาสนาของชาวล้านนา แม้เวลาผ่านไปกว่าหลายร้อยปี แต่วัดต้นเกว๋นในปัจจุบัน ยังคงความสมบูรณ์ จนได้รับการยอมรับจากผู้พบเห็นว่า เป็นวัดที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะโบราณสถาน และสถาปัตยกรรมของวัดแห่งนี้ได้รับการดูแลรักษาจากผู้คนในชุมชนอย่างดี ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรม และความเจริญของวัตถุที่คืบคลานเข้ามา

 วิหารวัดต้นเกว๋น เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณ หน้าบันประดับกระจกแก้วสีแบบฝาตาผ้า หรือฝาปะกน โก่งคิ้วจำหลักไม้ มีลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค และลายปูนปั้นรูปเทพพนม และดอกไม้อยู่ที่หัวเสา

 บริเวณด้านหน้าบันปีกนกเกาะ สลักเป็นเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก ตีช่องตารางเพื่อระบายอากาศ  คันทวยหูช้างจำหลักไม้เป็นรูปกินนรฟ้อนรำ มณฑปจตุรมุข เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้น ในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลาที่มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินขอ ช่อฟ้าของหลังคาช่างได้ออกแบบเป็นตัวนกเกาะบนช่อฟ้าได้อย่างลงตัว

 ส่วนบริเวณกลางสันหลังคา มีซุ้มมณฑปเล็กๆ  ซึ่งทางภาคเหนือ เรียกว่า "ปราสาทเฟื้อง" มีสถาปัตยกรรมใกล้เคียงที่พบในลักษณะเดียวกันอยู่ในภาคอีสาน และลาว ส่วนในมณฑปยังมีอาสนะสำหรับตั้งโกศพระบรมธาตุ  มีฮางฮด หรือ รางรินสำหรับรองน้ำสุคนธารา หรือน้ำอบน้ำหอม ที่นำมาหยดหล่อพระธาตุ และยังมีเสลี่ยงสำหรับหามบั้งไฟจุดบูชาสลักลวดลายดอก  

 ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน-โบราณวัตถุ ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๓๒ วัดต้นเกว๋นยังได้รับคัดเลือกเป็นวัดเก่าแก่ ที่ยังคงอนุรักษ์ศิลปะดั้งเดิมเอาไว้ด้วยดีเสมอมา จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานกิตติบัตรจาก สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานนิทรรศการสถาปนิก ๓๒  เมื่อวันที่ ๑๙  ตุลาคม ๒๕๓๒

 ชาวพุทธและนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากเดินทางไปชมความงดงามของวัดต้นเกว๋น ใช้เส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง เลี้ยวขาวบริเวณสี่แยกสะเมิง ไปตามเส้นทางสายหางดง-สะเมิง บริเวณบ้านต้นเกว๋น หมู่ ๔ ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ด้านหลัง อบต.หนองควาย

เรื่อง / ภาพ จันจิรา จารุศุภวัฒน์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม