ไลฟ์สไตล์

แสนเสียดาย... ปราสาทเทพนิยายแห่งมัณฑะเลย์

พระราชวังมัณฑะเลย์ รอยอดีตอันเรืองโรจน์แห่งราชธานีเดิมของพม่า แม้จะสร้างจำลองขึ้นมาใหม่บนพื้นที่เดิมที่เคยถูกเพลิงเผาผลาญไปในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่กระนั้นก็ยังงามสง่าราวปราสาทในเทพนิยาย สีทองทาแม้ไม่อร่ามเท่าปิดแผ่นทองของเดิม แต่ก็ยังเปล่งประกายยาม

 พระนิพนธ์ “เที่ยวเมืองพม่า” ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อธิบายซุ้มรังไก่นี้ว่า “...สำหรับคนขึ้นไปนั่งประจำคอยเอากระสุนยิงไล่แร้งมิให้มาจับบนหลังคาราชมณเฑียร และมีไม้ไผ่ทอดประจำไว้บนหลังคาเป็นทางคนขึ้น พิเคราะห์ดูก็ชอบกล ฉันได้สังเกตเห็นแต่แรกไปถึง ว่าที่เมืองพม่ามีแร้งชุม ไปเมืองไหนก็เห็นมีฝูงแร้งบินร่อนมิใคร่เว้นแต่ละวัน ครั้นไปเห็นว่าถึงต้องทำที่ให้คนนั่งยามคอยไล่แร้งอยู่บนหลังคา… ก็ทำให้หวนรำลึกถึงความหลังครั้งฉันยังเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ 6… โปรดเสด็จไปประทับที่เมืองนครปฐมเนืองๆ ที่นั่นมักมีฝูงแร้งมาบินร่อน ฉันต้องสั่งให้คนคอยระวังอย่าให้แร้งไปลงในพระราชวัง ทีหลังมานึกขึ้นได้ว่าธรรมดาแร้งชอบกินของเน่า…ก็ลองเปลี่ยนวิธีไล่แร้ง ด้วยสั่งว่าถ้าเห็นฝูงแร้งมาร่อนอยู่เมื่อใด ให้คนแยกย้ายกันเที่ยวหาซากศพ พบแล้วให้ฝังเสีย… ก็ไม่มีฝูงแร้งมาร่อนอีก…”

 อย่างไรก็ตาม มีข้อโต้แย้งว่า คำอธิบายดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้อง ด้วยธรรมเนียมในราชสำนักไม่น่าจะยอมให้ใครขึ้นไปอยู่สูงกว่าพระเจ้าแผ่นดินได้ ซุ้มนี้จึงน่าจะเป็นป้อมยามของทหารอังกฤษที่เข้ามายึดครองพระราชวัง หลังจากอังกฤษได้พม่าเป็นเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2428 และส่งตัวพระเจ้าสีป่อ กษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าไปอยู่ที่อินเดียแล้ว จึงต้องคอยระแวดระวังไม่ให้ชาวพม่าบุกเข้ามายึดวังคืน ประเด็นนี้นับเป็นข้อวินิจฉัยที่น่าสนใจ แต่ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์พระราชวังนี้ ก็นับว่ายังไม่สมเหตุสมผลนัก

  พุทธศักราช 2400 พระเจ้ามินดงทรงย้ายเมืองหลวงจาก “อมรปุระ” ซึ่งตั้งประชิดแม่น้ำอิระวดีจนเกินไป เสี่ยงต่อการถูกเรือรบของอังกฤษโจมตี จึงย้ายลึกเข้าไป 12 กิโลเมตร ณ เมืองมัณฑะเลย์ แล้วทรงสร้างพระราชวังอันงดงามตระการตา ดั่งการจำลองเขาพระสุเมรุไว้ให้เป็นศูนย์กลางของโลกและจักรวาล ร่ำลือกันว่าเป็นพระราชวังที่วิลิศมาหราที่สุดในอุษาคเนย์ยามนั้น ทว่าพระราชวังตั้งโดดเด่นอยู่ได้เพียง 28 ปี พม่าก็เสียเมืองให้อังกฤษ เจ้าอาณานิคมอังกฤษจึงยึดครองพระราชวังเป็นค่ายทหารนานราว 50 ปี พอสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น อังกฤษจำต้องถอนกำลังไปสู้รบกับเยอรมันในยุโรป กองทัพลูกพระอาทิตย์ฉวยโอกาสเข้ายึดครองพระราชวังแทน จน พ.ศ. 2488 กองบินสัมพันธมิตรนำโดยอังกฤษบุกโจมตีญี่ปุ่น แล้วทิ้งบอมบ์ใส่พระราชวังมัณฑะเลย์ราวกับทะเลเพลิง หมู่พระตำหนักและพระราชบัลลังก์ทองคำล้ำเลอค่ามอดไหม้เป็นจุณ จากนั้น เมื่อพม่าได้รับเอกราชปี พ.ศ. 2491 พื้นที่พระราชวังมัณฑะเลย์ถูกใช้เป็นค่ายทหารของพม่ามาตราบจนวันนี้

 ครั้นพม่าเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในปี 2538 จึงได้จำลองพระราชวังมัณฑะเลย์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้ภาพที่อังกฤษบันทึกไว้เป็นแม่แบบ ดังนั้น ถ้าซุ้มที่ดูแปลกปลอมดังกล่าวมิได้มีมาแต่เก่าก่อน หากแต่เป็นมรดกตกทอดสมัยอังกฤษ รัฐบาลทหารพม่าซึ่งรังเกียจอังกฤษและพยายามลบอิทธิพลอังกฤษออกไปจากลุ่มอิระวดีทุกวิถีทาง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องจำลองซุ้มสีขาวเจ้าปัญหานี้มาประดับไว้ให้ปวดร้าวใจอีก ที่สำคัญคือภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรุงย่างกุ้ง ซึ่งถือเป็นสถานที่แสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพม่า มีโมเดลขนาดย่อ 1 ใน 10 ของพระราชวัง มัณฑะเลย์จัดแสดงไว้  ก็ยังย่อซุ้มรังไก่ไล่แร้งอวดโชว์ไว้อีกด้วย เป็นการยืนยันคำกล่าวของมัคคุเทศก์ท้องถิ่นชาวพม่า ที่ว่าในตำราพม่าก็ระบุว่า ซุ้มสีขาวนี้มีไว้สำหรับยามขึ้นไปไล่แร้งกา ที่เป็นสัตว์อัปมงคลตามคติคนโบราณ

 ล่าสุด ยังมีอีกแนวคิดหนึ่งในการอธิบายเรื่องนี้ คือสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นหอบูชานัต สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวพม่านับถือรองลงมาจากพระพุทธเจ้า นัตคือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ของผู้ตายร้าย มีสถานะสูงกว่าผี แต่ต่ำกว่าเทวดา ถ้าพิจารณาจากคติความเชื่อของชาวพม่าที่มีมาแต่สมัยพุกามเมื่อราว 900 ก่อน ที่จะไม่วางตำแหน่งของนัตไว้สูงกว่าพระพุทธรูป ข้อวินิจฉัยว่าซุ้มสีขาวเป็นหอบูชานัต ก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน แต่ไม่ว่าซุ้มนี้จะมีไว้เพื่อการใด และอาจแลดูประดักประเดิดเมื่อมองจากระยะใกล้ ทว่า ก็มิอาจบดบังความงามสง่าดั่งปราสาทเทพนิยาย ของตัวพระราชวังแห่งนี้เมื่อมองแบบองค์รวมจากระยะไกลได้

 แต่ที่นอกกำแพงวัง มีวัดแห่งหนึ่งซึ่งชาวพม่าเรียก “ชเวนันดอว์” แปลว่าวัดพระราชมณเทียรทอง เหตุเพราะเคยเป็นพระตำหนักทรงธรรมในพระราชวังมัณฑะเลย์ ที่พระเจ้ามินดงทรงประทับนั่งสมาธิแล้วเสด็จสวรรคต จึงชะลอหรือย้ายออกมาถวายให้เป็นวัดเสียก่อน เลยรอดพ้นจากไฟไหม้สมัยสงครามโลก แม้วันนี้จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ทว่าก็ยังหลงเหลือร่องรอยอันวิจิตรตาให้ประจักษ์ ยิ่งมองก็ยิ่งแสนเสียดาย ว่าหากหมู่พระตำหนักนับร้อยภายในพระราชวังองค์จริงไม่ถูกเพลิงแห่งความโง่เขลาเผาผลาญไป ราชธานีสุดท้ายของลุ่มอิระวดีแดนทอง จะเปล่งประกายระยิบยับจับใจเพียงใด?

เรื่อง - ภาพ..."ธีรภาพ โลหิตกุล"

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม