ข่าว

'ทบทวนการตรวจสอบองค์ประชุม'

ประเดิมงานแรกในตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ของ วิทยา แก้วภราดัย ในการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไป

 ซึ่งสมัยประชุมนี้ ต้องถือว่าเป็นงานที่หนักหน่วงของประธานวิปรัฐบาล เนื่องจากต้องรับศึกหนัก ทั้งเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาล และรับมือพรรคฝ่ายค้าน ที่คอยแต่จะเล่นเกม

 วิทยาเปิดใจถึงการวางแนวทางการทำงานว่า “ผมตั้งใจจะทำให้ดีที่สุด แต่จะได้แค่ไหนก็ต้องยอมรับในข้อเท็จจริง ผมยึดหลักความร่วมมือของ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือเทวดาก็ทำไม่ได้ จะทำคนเดียวก็ไม่ได้ เพราะการทำงานในสภานั้น องค์ประชุมเป็นเรื่องสำคัญ สภาจะล่มหรือไม่ล่มก็อยู่ที่ความร่วมมือเป็นหลัก ในการเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพราะถ้าไม่เข้าร่วมประชุมการผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่สำคัญก็ทำอะไรไม่ได้  

 แต่ในทางตรงกันข้าม หากเข้าร่วมประชุมกันพร้อมเราจะทำงานได้มาก โดยอันดับแรกก็จะขอความร่วมมือส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลเป็นระยะๆ เพราะการทำงานในสภาเป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาทุกคน สภาอยู่ได้ทุกคนก็อยู่ได้ แต่ถ้าอยู่ไม่ได้ก็กลับไปเลือกตั้งกันใหม่!

 ผมไม่รู้สึกกังวลกับเรื่องการประสานงาน หรือบรรยากาศในที่ประชุมสภา หากบกพร่องก็อยู่ที่คนไม่เข้าประชุม ก็คงต้องถามกันว่า เมื่อ ส.ส.มีเหตุที่จะไม่เข้าประชุมแล้วประธานไปฝืนหรือไม่ ทั้งนี้ ผมเห็นว่า ในเรื่องของกระบวนการตรวจสอบองค์ประชุมก็ต้องทำด้วย โดยเฉพาะการนั่งในที่ประชุมแต่ไม่เสียบบัตร ทั้งๆ ที่หลักการจะต้องถือว่า คนนั้นเป็นหนึ่งในองค์ประชุม เพราะเขาอยู่ในห้องประชุม เป็นคนแต่พอเวลาให้เสียบบัตรกลับไม่เสียบ ละลายหายไปในห้องประชุม ซึ่งที่ผ่านมาการนับองค์ประชุมดูจากการกดบัตร ไม่ได้ดูตามความเป็นจริง จึงต้องควรทบทวน

 ผมเห็นว่าถ้าฝ่ายค้านไม่พอใจก็ควรวอล์กเอาท์จากห้องประชุม เพื่อชะลอกฎหมาย ถือเป็นอำนาจของฝ่ายค้าน แต่ถ้าการแค่นั่งแล้วไม่กดบัตรจะถือว่าเป็นการวอล์กเอาท์ไม่ได้ตามกติกาสากลทั่วโลก ซึ่งผมมีแนวทางเพื่อปรับให้การประชุมกระชับขึ้น เพื่อให้ทุกคนรู้สึกดีเวลาเข้ามาประชุม

 ด้วยมาดที่เนี้ยบ นิ่ง สงบ สยบความเคลื่อนไหว ในตำแหน่งใหม่หมาดๆ ของวิทยานั้นน่าจับตามอง เพราะนอกจากจะเป็น ส.ส.มาแล้วหลายสมัย มีความเก๋าเกม และในแง่ของบารมีนั้น ไม่ต้องพูดถึง เพราะวิทยาเคยนั่งในตำแหน่งประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายปี ก่อนที่จะมารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และยังเป็นแก๊งออฟโฟร์ในประชาธิปัตย์ ที่มีบทบาททางการเมืองสูงในพรรค

 นอกจากนี้ยังเป็นคนที่มีเพื่อนฝูงมาก จัดว่าเป็นคนที่ “เฟรนด์ลี่” คือ ให้ความเป็นมิตรและให้ความช่วยเหลือคนทั้งในและนอกวงการการเมือง จนออกปากชื่นชมมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของวิทยา จึงไม่ใช่ตำแหน่งปลอบใจจากการแสดงสปิริตลาออกจากตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข

 หากจะย้อนอดีตทางการเมืองของวิทยา หลายคนคงลืมไปแล้วว่า เคยเป็น 1 ใน 3 ทหารเสือของพรรคพลังธรรม ร่วมกับ ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และสุธรรม แสงประทุม ซึ่งทั้ง 3 คนนั้นเป็น ส.ส.ใต้ของพลังธรรมที่ฝ่ากระแสภาคนิยมของพรรคประชาธิปัตย์เข้ามานั่งในสภาหินอ่อนได้อย่างง่ายดาย

 และต่อมาเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเทคโอเวอร์พรรคพลังธรรม จึงทำให้ 3 ทหารเสือสลายตัวไป เนื่องจากคนละอุดมการณ์ ทำให้ทั้งวิทยา และชำนิ ย้ายสังกัดมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์

 ทั้งนี้ หากจะพูดถึงคุณสมบัติของประธานวิปรัฐบาลนั้น คงต้องแยกย่อยออกเป็น 2 ข้อ คือ 1.คุมลูกพรรคของตัวเองให้อยู่ และ 2.ต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้ ตามที่พรรคของตัวเองต้องการ เพราะหากไม่ทันเกมทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายที่เสียเปรียบก็คือ พรรคประชาธิปัตย์เอง

 จากนี้ไปแฟนพันธุ์แท้ของพรรคประชาธิปัตย์คงเริ่มจับตาดูการทำงานของวิทยา ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะเกมการเมืองทั้งในและนอกสภาจากนี้ไปไม่นิ่งอย่างแน่นอน จนกว่าจะถึงวันตัดสินคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน

ศรุติ ศรุตา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม