ลิสต์ "รายชื่อ" 7 อรหันต์ “ก.พ.ค.ตร.” ชี้ชะตา “บิ๊กโจ๊ก”
เปิด "รายชื่อ" 7 “ก.พ.ค.ตร.” ชุดชี้ชะตาอุทธรณ์คำสั่ง "ให้ออกจากราชการไว้ก่อน" ของ “บิ๊กโจ๊ก” ใครเป็นใครบ้าง มีอำนาจหน้าที่อะไร วาระการดำรงตำแหน่งคราวละกี่ปี
นาทีนี้ ทุกสายตาต่างจับตา ไปที่ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. ว่าจะมีความเห็นอย่างไร กรณี บิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. อุทธรณ์ คำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามที่ บิ๊กต่าย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. ลงนามคำสั่งไว้ เมื่อครั้งทำหน้าที่ รรท.ผบ.ตร. ที่ต่อมา บิ๊กโจ๊ก อุทธรณ์ คำสั่ง ดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.ตร. เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 โดยให้เพิกถอนคำสั่ง ให้ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดย ก.พ.ค.ตร. มีทั้งสิ้น 7 คน ลงนามแต่งตั้งโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 356/2566 ลงวันที่ 28 พ.ย. 2566 ประกอบด้วย
- นายสมรรถชัย วิศาลาภรณ์ ประธานแผนกคดีบริหารงานบุคคล ในศาลปกครองสูงสุด เป็น ประธาน ก.พ.ค.ตร.
- นายธวัชชัย ไทยเขียว อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็น กรรมการ ก.พ.ค.ตร.
- พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม , อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ , อดีตผบ.ตร. เป็น กรรมการ ก.พ.ค.ตร.
- นายวันชาติ สันติกุญชร อธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ, อัยการอาวุโส เป็น กรรมการ ก.พ.ค.ตร.
- พล.ต.ท.อาจิณ โชติวงศ์ อดีต ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น กรรมการ ก.พ.ค.ตร.
- พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม อดีต ที่ปรึกษา สบ10 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น กรรมการ ก.พ.ค.ตร.
- พล.ต.ท.ปัญญา เอ่งฉ้วน อดีตผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็น กรรมการ ก.พ.ค.ตร. และ เลขานุการ
โดย ก.พ.ค.ตร. มี วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงครั้งเดียว
อำนาจหน้าที่ ของ ก.พ.ค.ตร. อาทิ เสนอแนะต่อ ก.ตร. เพื่อให้ ก.ตร.จัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารงานบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับพิทักษ์ระบบคุณธรรม , พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ , พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ , พิจารณาเรื่องคุ้มครองระบบคุณธรรม , ออกกฎ ก.พ.ค.ตร.ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติ , ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ ก.พ.ค.ตร.
โดยคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. เกี่ยวกับเรื่องร้องทุกข์ หากเป็นการวินิจฉัยว่า กฎ ก.ตร. ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด
ทั้งนี้ นายธวัชชัย ไทยเขียว หนึ่งใน ก.พ.ค.ตร. เคยโพสต์เฟซบุ๊ก ชี้แจงถึงกรณีข้าราชการตำรวจอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ว่า กระบวนการขั้นตอนการดำเนินการกรณีดังกล่าว เมื่อผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.ตร. ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง
ประธาน ก.พ.ค.ตร. มอบหมายกรรมการคนหนึ่งเป็นเจ้าของสำนวนพิจารณาสำนวนอุทธรณ์ว่า เป็นอุทธรณ์ที่ถูกต้องครบถ้วนและมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่
เมื่อถูกต้องครบถ้วนการพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เว้นแต่มีเหตุขัดข้องพิจารณาไม่แล้วเสร็จให้ขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้งๆละไม่เกิน 60 วัน และให้บันทึกเหตุขัดข้องไว้
กรรมการสั่งรับอุทธรณ์แล้ว ให้มีคำสั่งให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน หรือ ภายในระยะเวลาที่กรรมการ เจ้าของสำนวนกำหนด โดยส่งสำเนาคำอุทธรณ์และสำเนาพยานหลักฐานไป หรืออาจจะกำหนดประเด็นให้คู่กรณีในอุทธรณ์ทำคำแก้อุทธรณ์ เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาด้วยหรือไม่ก็ได้
เมื่อได้รับคำแก้อุทธรณ์ของคู่กรณีมาแล้ว กรรมการจะต้องส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์พร้อมทั้งสำเนาพยานหลักฐานกลับให้ผู้อุทธรณ์ทราบ
หากข้อมูลยังไม่เพียงพอ กรรมการอาจออกคำสั่งเรียกให้ส่งสำนวนการสอบสวนและการลงโทษ หรือ เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องภายในเวลาที่กำหนด หรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งพยานหลักฐานหรือ เอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการแสวงหาข้อเท็จจริง หรือเรียกคู่กรณีมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อ ก.พ.ค.ตร. ตามที่เห็นสมควรได้
เมื่อได้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงมาแล้ว กรรมการจะพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้มาทั้งหมด และเห็นว่าไม่มีกรณีที่จะต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก็ให้มีคำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยแจ้งให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 10 วัน
กรรมการจัดทำบันทึกสรุปสำนวนเสนอต่อ ก.พ.ค.ตร. เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และขอกำหนดวันพิจารณาวินิจฉัย และแจ้งวันประชุมพิจารณาวินิจฉัยให้คู่กรณีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน
ระหว่างก่อนถึงวันพิจารณาวินิจฉัยและมีมติ คู่กรณีมีสิทธิยื่นคำแถลงเป็นหนังสือในเรื่องนั้น ต่อ ก.พ.ค.ตร. ได้
วันพิจารณาวินิจฉัยคู่กรณีสามารถมาแถลงด้วยวาจาต่อ ก.พ.ค.ตร. ในการประชุมพิจารณาวินิจฉัยก็ได้
อย่างไรก็ดี หากผู้อุทธรณ์ยังเห็นแย้งกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค.ตร. สามารถนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ได้