ข่าว

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับทำงานบนความกดดัน แต่ทุกอย่างยึดหลักเที่ยงธรรม

ประธาน ศาล รธน. ยอมรับทำงานบนความกดดัน แต่ทุกอย่างยึดหลักเที่ยงธรรม คดีเศรษฐา ตั้งพิชิต - ยุบก้าวไกล เสร็จก่อน ก.ย. นี้ ไม่ขอตอบโต้การแถลง เหตุไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

1 ก.ค. 2567 ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนแวนชั่น กรุงเทพฯ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในงาน "ศาลรัฐธรรมนูญพบสื่อมวลชนประจำปี 2567" ถึงการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันพุธที่ 3 ก.ค. นี้ว่า จะมีการพิจารณาคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กรณีตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  และคดีการยุบพรรคก้าวไกล ในส่วนของการพิจารณาหลักฐานและหลักฐานที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พรรคก้าวไกล ยื่นต่อศาล ก่อนจะเปิดให้คู่ความมาตรวจเอกสารในวันที่ 9 ก.ค.

ส่วนทั้ง 2 คดี จะมีข้อสรุปว่าจะเปิดการไต่สวนพยานหรือไม่นั้น นายนครินทร์ ขอให้เป็นการหารือกับองค์คณะไต่สวน หากพูดว่าจะเปิดไต่สวนจะกลายเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการแต่ละคน แต่ยืนยันว่าทั้ง 2 คดี จะเสร็จก่อนเดือน ก.ย. แต่ตอบไม่ได้ว่าคดีไหนจะเสร็จก่อน

นายนครินทร์ ยอมรับว่า ศาลทำงานบนความกดดัน ทั้งการกดดันตัวเองและสังคมกดดันศาล ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้เพราะเป็นคดีสำคัญ แต่ทุกอย่างก็อยู่บนความเที่ยงธรรม พอเหมาะพอควร ชี้แจงจนหมดข้อสงสัยแล้วค่อยวินิจฉัย การตัดสินใจของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการตัดสินใจขององค์คณะซึ่งมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่การตัดสินใจโดยบุคคลเดียว ซึ่งจากนี้จะไปหารือกับองค์คณะว่านอกจากจะเปิดเผยผลการลงคณะแนนแล้ว จะใส่ชื่อตุลาการเสียงข้างมากข้างน้อยด้วย 

 

ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยอมรับทำงานบนความกดดัน แต่ทุกอย่างยึดหลักเที่ยงธรรม
 

ส่วนที่พรรคก้าวไกลออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดีในชั้นศาลนั้น นายนครินทร์ กล่าวว่า ต้องไปหาในองค์คณะตุลาการอีกครั้ง แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะมีอะไร ซึ่งการที่ศาลห้ามแสดงความเห็นเป็นเพียงคำแนะนำ คำเตือนเท่านั้น ขอให้ดูความพอเหมาะ พอดี พอควร

ส่วนการแถลงชี้แจงของพรรคก้าวไกลเกี่ยวกับคดีที่ยู่ระหว่างการพิจารณานั้น นายนครินทร์ ไม่ขอแสดงความเห็น เพราะศาลไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งหรือคู่ต่อสู้ ดังนั้นในฐานะตุลาการไม่ขอตอบโต้
 

"ปธ.ศาล รธน." มองสื่อดิจิทัลยุ่งเหยิง แม้รวดเร็ว แต่มีการแบ่งฝั่งแบ่งฝ่าย ขาดจรรยาบรรณ ตักเตือนได้ยาก


นายนครินทร์ ยังกล่าวตอนหนึ่งในปาฐกถาพิเศษ "บทบาทของสื่อในสังคมข้อมูลข่าวสารยุคดิจิทัล" ว่า ข้อมูลข่าวสารในยุคดิจิทัลมันยุ่งเหยิงมาก ศาลก็ต้องใช้สื่ออย่างน้อยต้องมีจดหมายข่าว แต่ก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ถูกบีบโดยสื่อด้วย ซึ่งล้วนแต่มีผลต่อการตัดสินใจของศาลในบางลักษณะ จะมากหรือน้อย แล้วแต่ดุลพินิจของตุลาการแต่ละคน แน่นนอนสังคมไทยสื่ออยู่บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพพอสมควร และถือว่ามากถ้าเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่อยากชวนคิดว่าสื่อในยุคดิจิทัล หน้าตาเป็นอย่างไร หาคำจำกัดความได้ยาก


 

ดังนั้น ตนอยากจัดออกเป็น 3 ลักษณะ คือ 1.สื่อที่มีเจ้าของหรือเจ้าของสื่อ ทุกองค์กรมีสื่อของตนเอง เช่นศาลมีจดหมายข่าวมีแถลงข่าว แต่สื่อที่มีเจ้าของปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะบุคคลธรรมดาก็สามารถเป็นเจ้าของสื่อได้ด้วยตนเอง เช่น การไลฟ์สด รายงานข่าวภาคสนามอาจจะรายงานโดยประชาชนทั่วไปด้วยซ้ำ ฉะนั้นความหมายของสื่อมันกว้าง

แม้เจ้าของสื่อแต่ไม่สามารถสื่อตามที่ต้องการได้ทั้งหมด และขึ้นอยู่กับอุปนิสัยขององค์กร พร้อมยกตัวอย่างกรณีที่ศาลมีการนัดประชุมปรึกษาคดีเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ว่า ความจริงไม่มีอะไรซับซ้อน แค่มีที่ปรึกษาอาวุโสลาไว้นานแล้ว จะประชุม19 มิ.ย. ก็ไม่ได้ แต่ด้วยองค์กรไม่สามารถที่จะสื่อสารให้ทราบทั้งหมดได้

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ

2. การว่าจ้างสื่อ ข่าวที่นำเสนอด้วยสื่อนี้จะมีความแตกต่างจากข่าวปกติ

3. สื่อที่ไม่ทำเองไม่ว่าจ้าง เป็นการนำเสนอข่าวจากองค์กรโดยไม่ต้องว่าจ้างเป็นสิ่งที่ดีที่สุด อาจจะเป็นเพราะข่าวมีความสำคัญ เพราะเราสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องว่าจ้าง

แต่เมื่อเกิดสื่อดิจิทัลขึ้นมา ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แม้จะทำให้เกิดการสื่อสารที่รวดเร็ว คำถามคือจรรยาบรรณ ของสื่อโลกดิจิทัลอยู่ตรงไหน เมื่อสมัยก่อนเราจัดอบรมกันได้ แต่ปัจจุบันจะจับบุคคลที่รายงานข่าวมาตักเตือนอย่างไร คงจะทำได้แค่ตักเตือนตนเอง หรือผู้ใหญ่ตักเตือนกันบ้าง ซึ่งถ้าไม่ควบคุมกันเลยก็จะกลายเป็นสังคมอนาธิปไตย

"ศาลเป็นองค์กรที่อยู่กับความลับ บางเรื่องเปิดเผยไม่ได้จริงๆ ต้องอยู่บนความพอเหมาะพอควร อย่าสุดโต่ง ระหว่างความโปร่งใสตรวจสอบได้ กับความลับที่จะมีผลต่อความเสียหาย และความมั่นคงของประเทศ " นายนครินทร์ กล่าว