ข่าว

รากหญ้าหรือประชานิยม

ประเทศผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายทั่วโลกรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน หรือแม้แต่จีน และประเทศพัฒนาอื่นๆ ล้วนแต่มีประวัติการเติบโตในระยะแรกด้วยการผลิตสินค้าเลียนแบบ หรือผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่โลกในยุคที่ประเทศเหล่านั้นต

 แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ประเทศที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สามารถก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ผลิต ที่สามารถแข่งขันเคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศต้นกำเนิด หรือประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายได้ หรือบางครั้งสามารถแซงขึ้นหน้าไปได้ด้วยซ้ำไป เป็นเพราะประเทศเหล่านั้นนอกจากจะลอกเลียนแบบเพื่อทำการผลิตและจำหน่ายแล้ว ยังลงทุนทุ่มงบประมาณเพื่อค้นคว้าและพัฒนาสินค้า เพื่อให้อยู่ในระดับเดียวกันหรือล้ำหน้าต้นแบบได้ด้วยนั่นเอง

 ปัจจุบันนี้เราจึงพบว่ารถยนต์จากญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ สามารถผลิตขึ้นโดยมีสมรรถนะและประสิทธิภาพที่เหนือกว่ารถยนต์จากอเมริกาและยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทอีเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ที่ประเทศพัฒนาทีหลังเหล่านั้น สามารถแซงหน้าไปได้ทั้งประสิทธิภาพ สมรรถนะ  และยอดจำหน่ายทั่วโลกทีเดียว

 ซึ่งนอกจากจะพัฒนาทางด้านตัวสินค้าตลอดเวลาแล้ว ประเทศลอกเลียนแบบดั้งเดิมในยุคเริ่มต้น ยังพัฒนาวิธีการทางด้านการตลาดและจำหน่าย เพื่อให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้อีกด้วย ในขณะที่ประเทศต้นกำเนิดของสินค้าหลายอย่าง กลับยึดติดแนวคิดที่ว่าตนเองคือผู้ให้กำเนิด และภาคภูมิใจจนถึงขั้นที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น

 เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในโลกธุรกิจเท่านั้น แม้แต่ในโลกกีฬาก็มีเกิดขึ้นให้เห็นตลอดเวลา เช่น ฟุตบอล หรือซอคเกอร์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในอังกฤษ แต่ประเทศอื่นๆ นำไปพัฒนาจนกระทั่งต้นกำเนิดอย่างอังกฤษ คว้าชัยชนะในตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกได้เพียงแค่ครั้งเดียว ต่างจากประเทศอื่นๆ เช่น บราซิล อิตาลี หรือเยอรมนี ที่ครองแชมป์กันมาจนนับแทบไม่ถ้วน

 หรือแม้แต่กีฬากอล์ฟที่ถือกำเนิดขึ้นมาที่สกอตแลนด์ แต่นักกีฬาชั้นนำของโลกกลับมีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในประเทศอื่นๆ ทั่วไป นานๆ สักครั้งจึงจะมีชาวสกอตก้าวขึ้นมาสร้างชื่อเสียงในกีฬากอล์ฟสักคน

 ซึ่งน่าจะสรุปได้ว่าการลอกเลียนแบบไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด ขอเพียงแค่ให้ใช้การเลียนแบบมาเป็นทางลัดสำหรับการพัฒนาขั้นต้น ต่อจากนั้นต้องนำไปพัฒนาหาข้อดีข้อด้อย เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดหรือผู้บริโภคต่อไป 

 เพราะท้ายที่สุดแล้วชัยชนะไม่ใช่อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ให้กำเนิด แต่อยู่ที่ว่าใครจะได้รับการยอมรับในโลกนี้มากกว่ากัน ซึ่งหากเป็นกีฬาก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ครองตำแหน่งแชมเปี้ยน หรือในทางธุรกิจก็อยู่ที่ว่าใครจะทำได้ถูกใจผู้บริโภคมากกว่ากัน ใครจะจำหน่ายได้มากกว่ากัน และท้ายที่สุดคือใครจะทำกำไรได้มากกว่ากันต่างหาก

 ในทางการเมืองของไทยทุกวันนี้ ผมได้ยินคำพูดมากมายว่านโยบายของรัฐบาลยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เป็นนโยบายในรูปแบบประชานิยม คือการลอกเลียนแบบนโยบายอัดฉีดสู่รากหญ้าของรัฐบาลยุค พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แล้วก็มีคนฝ่ายประชาธิปัตย์ หรือคนฝ่ายรัฐบาลในปัจจุบัน ดาหน้าออกมาแก้ต่างไปข้างๆ คูๆ ต่างๆ นานา

 ทั้งที่หากจะออกมาพูดความจริงว่า แม้จะเป็นนโยบายที่มีรูปแบบและลักษณะเหมือนกัน   แต่ก็ได้พัฒนามาเพื่อให้มีการฉ้อฉลโกงกินกันน้อยที่สุด ต่างไปจากในยุคก่อนที่มีการโกงกินกันในระดับนโยบาย แล้วเหลือเพียงเศษกระดูกให้ชาวบ้านแทะเท่านั้น แต่กลับมีการออกมาแก้ต่างว่าไม่ใช่นโยบายที่ลอกเลียนแบบแต่อย่างใด ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะอายไปทำไมถ้าเลียนแบบแล้วทำได้ดีกว่า หรือว่าท้ายที่สุดแล้วมันก็หายหกตกหล่นระหว่างทางครือกันครับท่าน

พัฒนเดช อาสาสรรพกิจ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวยอดนิยม