ข่าว

"สกลทวาปี"นครเมือง รักษาพระธาตุเชิงชุม

จากเหตุภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาทางจังหวัดสกลนครได้มีโครงการจัดทำฝายเพื่อช่วยชะลอความชุ่มชื้นให้พื้นที่ ขณะนี้ทำไปแล้ว 7,600 ฝายจากทั้งหมด 8,400 ฝาย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวงเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ปี 2554

  “สกลนคร” มาจาก “สกล” หมายถึง เต็มบริบูรณ์, ทั้งหมด, ทั้งสิ้น “นคร” หมายถึง เมือง ดังนั้น ชื่อ “สกลนคร” จึงน่าจะหมายถึง เมืองอันบริบูรณ์

 ประวัติการตั้งบ้านเมืองสกลนคร ตามพงศาวดารเมืองฉบับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) กล่าวว่า...
 ที่ตั้งเมืองสกลนครปัจจุบัน เดิมคือเมืองหนองหานหลวง เมื่อ พ.ศ.1500 ขุนขอมราชบุตรเจ้าเมืองอินทปัฐนครฝั่งเขมร ได้อพยพบ่าวไพร่มาสร้างเมืองใหม่ที่ริมหนองหานหลวง บริเวณท่านางอาบ ราว พ.ศ.1800 เมื่อหนองหานตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของล้านช้างจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "เชียงใหม่หนองหาน"

 สมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์พร้อมครอบครัวมาตั้งบ้านเมืองดูแลรักษาองค์พระธาตุเชิงชุม จนมีผู้คนมากขึ้นแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุม เป็น เมืองสกลทวาปี เมื่อปี พ.ศ.2329 โดยแต่งตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์เป็นพระธานี เจ้าเมืองสกลทวาปีคนแรก (สกลทวปี น่าจะแปลว่าหนองน้ำอันบริบูรณ์ (วาปี แปลว่า หนอง, บึง)

 พ.ศ.2369 รัชกาลที่ 3 เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ เจ้าเมืองสกลทวาปีไม่ได้เตรียมกำลังป้องกันเมือง เหตุครั้งนี้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) จึงสั่งให้นำตัวพระธานีไปประหารชีวิต พร้อมกวาดต้อนผู้คนไปอยู่ที่เมืองกบินทร์บุรีและประจันตคาม ให้คงเหลือแต่เพียงพวกเพี้ยศรีคอนชุม ต.ธาตุเชิงชุม บ้านหนองเหียน บ้านจานเพ็ญ บ้านอ่อมแก้ว บ้านธาตุเจงเวง บ้านพราน บ้านนาคีบ้านวังยาง และบ้านพรรณาเพื่อให้เป็นข้าปฏิบัติพระธาตุเชิงชุมเท่านั้น

 ต่อมาราชวงศ์คำแห่งเมืองมหาชัยกองแก้ว ได้อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ข้ามเข้ามาสร้างบ้านแปงเมืองขึ้นใหม่ที่เมืองสกลทวาปี รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ราชวงศ์คำเป็นพระยาประเทศธานี (คำ) เจ้าเมืองสกลทวาปีและทรงเปลี่ยนนามเมืองเป็น “เมืองสกลนคร”

 นอกจากพระธาตุเชิงชุมชาวสกลนครยังต้องดูแลรักษาสมบัติท้องถิ่นอื่นๆ ให้คงอยู่ต่อไป!

" เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

ข่าวยอดนิยม